ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ 2 เหตุการณ์ในเวลาใกล้เคียงกัน มีทั้งกรณีเด็กนักเรียนหญิง ม.2 ถูกเพื่อนนักเรียนชายรุมข่มขืน และกรณีกลุ่มเด็กวัยรุ่นรุมทำร้ายเด็กนักเรียน ม.3 จนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นไตและม้ามฉีก โดยทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทยอย่างมาก ซึ่ง 2 เหตุการณ์นี้แม้จะต่างกรณีแต่ก็มีจุดเหมือนกัน คือ…

“ฉายภาพปัญหาเด็ก” ที่ “ซับซ้อนยิ่งขึ้น”

“ความรุนแรง” นั้น “เกิดซ้ำ-เกิดบ่อย ๆ”

และเกิด “ปุจฉา” ว่า “ไทยไร้กลไกแก้??”

เกี่ยวกับ “ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก” นั้น ปัญหานี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ติดตามและสะท้อนต่อสังคมไทยต่อเนื่อง ซึ่งนี่ถือเป็น “ปัญหาสังคมที่สำคัญ” หลังมีแนวโน้มความเสี่ยงที่ “เด็กไทยมีโอกาสเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น” ทั้งจากการถูกผู้ใหญ่ทำร้าย และ “เด็กทำร้ายเด็กด้วยกันเอง” ซึ่งดูเหมือนกรณีหลังนี้จะมีตัวเลขพุ่งสูงขึ้นจนมาแรงไล่หลังกรณีแรก ดังจะเห็นได้จาก “ปรากฏการณ์เด็กร้ายต่อเด็ก” ที่ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมในสังคมไทยอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งสำหรับตัวเลขกรณีนี้ ก็มีสถิติน่าสนใจจากทาง กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้เคยเผยถึงตัวเลข “เด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง” ไว้ว่า…

“เด็กถูกทำร้ายที่เข้าโรงพยาบาล” นั้น…

มีรายงาน “ปีละไม่ต่ำกว่า 10,000 คน!!”

ขณะที่อีกแหล่งข้อมูลระดับนานาชาติ อย่าง องค์การยูนิเซฟ เคยเผยตัวเลข “เด็กถูกทำร้าย” ทั่วโลก ไว้ว่า… แต่ละปีจะมีเด็กในอัตราเฉลี่ย 4.2 คนใน 100 คน เป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรง ทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ…

นี่ยิ่งสะท้อนว่า “เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่”

โดย “เด็กไทยก็เป็นเหยื่อปีละไม่น้อย!!”

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับปัญหา “ความรุนแรงกับเด็กไทย” ที่สังคมตั้งคำถามหนักมากว่า…ดูเหมือนไทยจะยังไม่มีกลไกใดที่จะใช้แก้ปัญหานี้ได้??? ปัญหานี้เกิดขึ้นวนเวียนเป็นวังวนไม่จบสิ้น…โดยที่ไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง…ซ้ำยังหนักขึ้นเรื่อย ๆ… กับเรื่องนี้ทางผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ได้วิเคราะห์และฉายภาพปัญหานี้ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในเด็กไทยในยุคปัจจุบันนี้ มี “ปัจจัยเกิดจากสภาพสังคมไทยที่ย่ำแย่ลงทุกวัน!!!” ที่ดูเหมือนว่า “ปัญหาความรุนแรงในเด็ก” นั้น…

ปัญหาระหว่าง “เด็กกับเด็กด้วยกัน”…

ก็ดูจะไร้ทางจะยุติ-ทำให้ลดลงไม่ได้??

ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ผอ.ศูนย์คุณธรรม ยังสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ถึงเรื่องนี้ต่อไปว่า… เวลานี้หนทางที่จะทำให้ปัญหาเรื่องนี้ยุติ หรือช่วยทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงจากเดิมได้นั้น ส่วนตัวยอมรับความจริงว่า…เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากในขณะนี้ โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ยากขึ้นนั้น เกิดจากสภาพสังคมไทยวันนี้ที่ย่ำแย่ลงกว่าในยุคอดีต อีกทั้งการที่สถาบันครอบครัวไทยในปัจจุบันแปรสภาพเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น หรือต่างคนต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกันมากขึ้น ก็จึงทำให้ “ขาดการมอนิเตอร์จากชุมชน” ส่งผลให้ “เด็ก ๆ ที่มีแนวโน้มจะถูกทำร้าย ขาดโอกาสจากการได้รับการปกป้อง”

“เมื่อชุมชนถูกผลักออกจากสถาบันครอบครัว จะทำให้เด็กยิ่งมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงง่ายขึ้น อีกทั้งเด็กไทยวันนี้ขาดการร่วมกิจกรรมชุมชน เพราะใช้ชีวิตติดจอมือถือ จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ชุมชนไม่มีโอกาสจะคอนเนกต์กับเด็กได้ ทำให้เมื่อเกิดปัญหา กว่าจะช่วยได้ทัน บางทีก็สายไป” …ผอ.ศูนย์คุณธรรม ระบุถึงปัจจัย ก่อนจะสะท้อน “อีกมุม” ว่า… อีกปัจจัยที่ก็อาจทำให้ปัญหาความรุนแรงในเด็กเพิ่มขึ้น ก็คือจากการที่ “เด็กขาดต้นแบบที่ดี”

“สภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กวันนี้ เพราะเด็กซึมซับมาจากสิ่งที่เขาเห็น จะจากครอบครัวหรือจากสื่อก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะไม่ทำกับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้าน จะไปปล่อยกับเด็กด้วยกันหรือสังคมข้างนอกมากกว่า เพราะทำได้ง่ายกว่า” …ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ระบุและว่า… แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยให้ “เด็กเสพติดความรุนแรง” ไปเรื่อย ๆ เด็กก็จะยิ่งขาดความยับยั้งชั่งใจ มองเป็นเรื่องธรรมดาจากการที่ใช้ความรุนแรงจนชิน และเมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ที่สุดก็จะวกกลับมาใช้ความรุนแรงกับครอบครัว เนื่องจากใช้ความรุนแรงจนเคยชิน เพราะเคยชิน ก็จะยิ่งเสพติดความรุนแรง…

ยิ่งทำให้ “เบรกแตกทางอารมณ์” ได้ง่าย

“นอกจากกลไกครอบครัวจะช่วยไม่ได้ กลไกโรงเรียน ชุมชน สังคม ยิ่งแย่กว่าอีก เมื่อแย่กันทั้งระบบแบบนี้ก็ไม่แปลกที่ปัญหานี้จะเป็นเหมือนตัวโดมิโนที่ล้มทับกัน ซึ่งจะให้ปัญหานี้ลดลง คงต้องถามกลับที่สังคม ที่เป็นคนตั้งคำถามเรื่องนี้ ว่าวันนี้เราได้พยายามที่จะช่วยแก้ปัญหานี้จริงจังหรือยัง???” …ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ระบุชวนคิด…

ชวนให้สังคมไทยร่วมหาคำตอบเรื่องนี้

เรื่อง “ปัญหาความรุนแรงกับเด็กไทย”

ที่ “เด็กร้ายต่อเด็ก” ก็ “นับวันยิ่งร้าย”.