ก่อนจะเริ่มเปิดเทศกาลวันเด็กในวันเสาร์ที่ 14ม.ค.2566 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย 6 องค์กร จัดงานมหกรรมการสร้างสุขภาวะแก่สามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างความร่วมมือขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กว่า 407 โรงทั่วประเทศ พร้อมมอบมอบเกียรติบัตรสามเณรต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพ 14 รูป ที่วัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพฯ

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาโภชนาการเกินเด็กไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสามเณร พบว่าในปี 2565 สามเณรมีภาวะโภชนาการเกิน (เริ่มอ้วน และอ้วน) 21.5% มากกว่าเด็กไทยที่เริ่มอ้วนและอ้วนอยู่ที่ 10% เนื่องจากเลือกฉันน้ำปานะที่มีน้ำตาลปริมาณสูง 1.5 แก้ว/วัน ฉันผักเพียง 3 ช้อนโต๊ะ/วัน ที่สำคัญพบว่ามีกิจกรรมทางกาย 36 นาที/วัน (WHO แนะนำ 60 นาที/วัน) สะท้อนแนวโน้มปัญหาสุขภาพในระยะยาว ขณะนี้ สสส. ร่วมกับ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี” สื่อองค์ความรู้ แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันอาหารของสามเณร เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายเสริมสร้างสุขภาพที่ดี นำร่องใน 5 โรงเรียน มีสามเณรเข้าร่วมกว่า 157 รูป 

นวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี” มีพระพี่เลี้ยงคอยเป็นโค้ชเสริมการเรียนรู้ ทำให้ผลลัพธ์เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มสามเณรเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 8 สัปดาห์ เกิดผลการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ ทั้งเลือกฉันน้ำปานะที่มีน้ำตาลปริมาณสูงเป็น 0 ฉันผักเพิ่มเป็น 9 ช้อนโต๊ะ/วัน ที่สำคัญยังทำให้เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายถึง 51.7 นาที/วัน ผลประเมินความพึงพอใจใช้ประโยชน์และปฏิบัติได้จริงเกิน 80% สะท้อนแนวโน้มความสำเร็จในการสร้างความรอบรู้สุขภาพกลุ่มสามเณร มุ่งเป้าใช้ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีสามเณรศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษากว่า 34,634 รูป ภายในปี 66 เสริมการทำงานภาคปฏิบัติการในระดับพื้นที่ สนับสนุนองค์ความรู้สุขภาวะที่ดีส่งเสริมศาสนทายาทต่อไป ติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.sonkthaiglairok.com นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ดร.เภสัชกรหญิงจงจิตร อังคทะวานิช หัวหน้าโครงการพัฒนาสื่อและหลักสูตรโภชนาการสามเณรสมวัย และการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์และสามเณรโดยภาคีเครือข่าย ในฐานะผู้ขับเคลื่อนสื่อ “เณรกล้า โภชนาดี” เล่าว่า ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เณรบันทึกประวัติการฉันอาหารในแต่ละวัน โดยให้ข้อมูลความรู้ถึงหลักการเลือกอาหารที่มีโภชนาการดี  ซึ่งสื่อมีด้วยกัน 3 อย่างคือ 1. สื่อความรู้ เรียกว่าสื่อชวนอ่านแนะนำให้ฉันนม ฉันผัก การออกกำลังกาย ลดการดื่มน้ำหวาน 2. สื่อชวนคิด เป็นการให้กำลังใจสามเณร เมื่อต้องการลดน้ำหนัก 3.สื่อตัวช่วย ตัวอย่างเช่นดื่มนมไม่ได้จะต้องทำอย่างไร 

สำหรับวิธีการจะให้บันทึกการฉัน ใน 1 สัปดาห์ว่าฉันนมวัวกี่แก้ว ดื่มน้ำหวานกี่แก้ว ฉันผักกี่ช้อนโต๊ะ และออกกำลังกายกี่นาที ซึ่งตามเกณฑ์แล้วควรชันผักให้ได้6-10 ช้อนโต๊ะต่อวัน ดื่มนมจืดวันละ1-2 กล่อง เป็นต้น โดยมีโรงเรียนพระปริยัติฯในจังหวัด ศรีษะเกษ นครราชสีมา ตรัง ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด สามเณรรู้จักเลือกบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ ตัวอย่างของโรงเรียนพระปริยัติฯในจ.ศรีษะเกษ หันมาดื่มนมวัวได้ 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งที่นี่มีโครงการนมโรงเรียนเสริม อย่างไรก็ตาม นมโรงเรียนถือว่าเป็นหัวใจ ปรากฏว่าในสามเณรที่อ้วนการฉันนมเพิ่มขึ้น 1 กล่อง น้ำหนักลดลง 150 กรัม นมวัวช่วยให้โปรตีนเพื่อการเจริญเติบโต เมื่อสามเณรท้องอิ่มจึงไม่ต้องแสวงหาอาหารหวานมาฉัน ไม่เช่นนั้นจะฉันแต่น้ำหวาน ซึ่งน้ำที่หวานกระตุ้นอินซูลินทำให้หิวบ่อย ยิ่งฉันยิ่งอยาก สามเณรไม่รู้ตัวว่าทำไมจึงสุขภาพดีขึ้น แค่ฉันผักเพิ่มขึ้น 3 ช้อน 6 ช้อน จากจุดเริ่มต้นบางที่เณรฉันนมแค่ 0.3 กล่อง เท่ากับ 2 ช้อนโต๊ะ

เชิญชวนว่าเวลาถวายน้ำปานะ ให้นึกถึงนมจืด เพราะพระสงฆ์ฉันไม่หมดก็ไปให้สามเณร สามเณรมีนมจืดฉันไม่เพียงพอ เป็นสิ่งที่เราได้จากการวิจัย เสนอให้เป็นโยบายของมหาเถรสมาคม ตั้งงบประมาณจัดนมโรงเรียนพระปริยัติฯ” ดร.เภสัชกรหญิงจงจิตร กล่าวและว่า นอกจากเรื่องนมจืด เรื่องกิจกรรมทางกายของสามเณร เสนอว่ามหาเถรสมาคม ควรกำหนดว่ากิจกรรมทางกายชนิดไหนบ้างที่สามเณรทำได้ เพราะอาจถูกมองว่าไม่สำรวม  อาทิ ตีปิงปอง หรือการเล่นฟิตเนส ซึ่งทุกวันนี้กิจกรรมทางกายของสามเณรคือการเดินบิณฑบาตร และการยกโต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งมีบางวัดที่เจ้าอาวาสไม่เข้มงวดให้สามเณรมีกิจกรรมทางกายได้ แต่บางวัดก็ไม่ได้ ดังนั้นมหาเถรควรกำหนดให้มีเกณฑ์กลาง

สามเณร นทีทัศน์ แซ่เฮ้ง วัย 16 ปี กล่าวว่าจากการได้ใช้นวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี”ทำให้ได้รับความรู้เรื่องการฉันอาหารมากขึ้น อย่างการฉันนมจืดช่วยเพิ่มความสูง เพราะเพื่อนสามเณรด้วยกันมีความสูงน้อย หรือการฉันน้ำปานะที่มีรสหวานทำให้หิวบ่อย และเลือกที่จะฉันผักมากขึ้น และใส่ใจที่จะมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ซึ่งความรู้ที่ได้จะไปบอกต่อกับเพื่อนเณรที่มีน้ำหนักเกิน

นวัตกรรม “เณรกล้า โภชนาดี” ทำให้เกิดแรงจูงใจ เพราะมีการแข่งขันโดยจะมีการเชิญชูเกรียติเมื่อฉันนมจืด ฉันผัก ได้ตามเกณฑ์ หรือมีกิจกรรมทางกาย 60 นาทีต่อวัน.