ซึ่งจริง ๆ แล้วพฤติกรรมโหดทำนองนี้ กรณีแบบที่ครึกโครมเมื่อเร็ว ๆ นี้ นี่มิใช่เพิ่งจะเกิดครั้งแรก หากแต่พบอยู่เนือง ๆ ซึ่ง “ปรากฏการณ์น่าตกใจ!!” เกี่ยวกับ “คดีอาชญากรรม” ที่เกิดขึ้นโดย “ผู้ก่อเหตุมีช่วงอายุน้อยลง!!” นี่เป็นอีกปรากฏการณ์ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนย้อนดูแง่มุม…ที่ชี้ว่า “ไทยกำลังเจอระเบิดเวลาลูกใหม่!!”

สถานการณ์ “ปัญหาอาชญากรเด็ก” …

จำเป็นต้องมีการ “ไขรหัส-ไขคำตอบ”

ร่วมกัน “สกัดกั้นมิให้ลุกลามมากขึ้น”

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มมาสะท้อนฉายภาพให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาเรื่องนี้อีกครั้ง ว่า… กับปัญหานี้ กับกรณี “อาชญากรเด็ก-ยุวอาชญากร” ที่ผูกโยงทั้ง “ปัญหาทางสังคม-ปัญหาทางกฎหมาย” นั้น ถ้าไทยยังไม่มี “มาตรการสกัดกั้น” เมื่อระเบิดเวลาลูกใหม่ลูกนี้ “บึ้มรุนแรงขึ้น!!” แล้ว…การจะแก้ก็อาจช้าเกินไป!! ซึ่งปัญหาอาชญากรเด็กก็มีแง่มุม-มีบทวิเคราะห์น่าสนใจ โดย ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ เฮงตระกูล ที่สะท้อนไว้ผ่านบทความใน วารสารกระบวนการยุติธรรม (Journal of Thai Justice System) ที่ชี้ถึง “ปัจจัย” ที่อาจเป็น “เครื่องบ่มเพาะยุวอาชญากร”

ทางผู้สันทัดกรณีท่านดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า… ปัญหาอาชญากรเด็ก เกิดได้จากหลายปัจจัย หลายองค์ประกอบ อาทิ ปัจจัยทางกายภาพ ปัจจัยทางสังคม ปัจจัยทางจิต ที่เป็น “ตัวกระตุ้น” จนทำให้ “มีอาชญากรเด็กเพิ่มขึ้น”  ในยุคนี้…และนอกจากนี้ ทาง ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ ก็ได้สะท้อนขยายความเรื่องปัจจัยนี้ไว้ว่า… ในเรื่องของตัวกระตุ้นจาก “ปัจจัยทางกายภาพ” นั้น มีแนวคิดหนึ่งที่เชื่อว่า… บุคคลที่มีญาติหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นอาชญากร สืบสายโลหิตมาจากผู้ที่เป็นอาชญากร มีความเป็นไปได้ว่า…บุคคลนั้นมีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรม ตามญาติหรือสมาชิกในครอบครัว??

และมีผลศึกษาในต่างประเทศที่น่าแปลกใจว่า…บุตรบุญธรรมที่มีบิดาตัวจริงเป็นอาชญากร แม้ไม่เคยติดต่อบิดาตัวจริงเลย ก็อาจมีแนวโน้มที่จะมีแรงกระตุ้นในการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เท่า?? เมื่อเทียบกับผู้ที่บิดาไม่ได้เป็นอาชญากร

นี่เป็นผลศึกษาที่ “น่าประหลาดใจ??”

ผู้สันทัดกรณี-ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ท่านเดิมยังแจกแจงไว้ถึง “ตัวกระตุ้น” ที่ก็จัดเป็นปัจจัยทางกายภาพที่อาจ “บ่มเพาะ” ทำให้เกิด “ยุวอาชญากร” โดยระบุไว้ว่า… “ภาวะทุพโภชนาการ” นั้นก็ อาจเป็นอีกปัจจัยทำให้เกิดอาชญากรเด็กขึ้นได้!! จากการที่เด็กหรือเยาวชนคนนั้น ได้รับสารอาหารตามช่วงวัยที่ไม่ถูกสัดส่วนทางโภชนาการ จนทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างพัฒนาการไม่ครบถ้วน จนส่งผลต่อระบบร่างกาย อาทิ กรณี “มีน้ำตาลในเลือดต่ำ” ซึ่งกรณีนี้อาจจะทำให้คน ๆ นั้น มีการแสดงพฤติกรรม ก้าวร้าวต่อคนรอบข้าง หรือมักจะทำให้ มีปัญหาด้านการปฏิสัมพันธ์ กับสังคม…

“สำหรับในประเทศไทยนั้น ค่านิยมที่มองการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ กับการแพร่หลายของสารเสพติด ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้วัยรุ่นมีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมด้วย” …เป็นการวิเคราะห์ที่ระบุไว้ในบทความ

ขณะที่ “ปัจจัยทางจิตใจ” นั้น ข้อมูลโดยสังเขปจากที่ ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ ได้ระบุไว้ มีว่า… จากผลการศึกษาของกลุ่มจิตวิทยาอาชญากรรม ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับ “บุคลิกของอาชญากร” พบว่า… “ปัจจัยทางจิตใจ” คือ “ตัวกำหนดการกระทำผิด” ที่จะผลักดันหรือกระตุ้นทำให้คน ๆ หนึ่งกระทำผิดได้ อย่างไรก็ตาม แต่ปัจจัยนี้ที่จะกระตุ้นให้คนกระทำความผิดได้นั้นจะต้องมีพัฒนาการมาแต่เยาว์วัย จนอาจจะ ติดตัวมาเป็นนิสัย และกระตุ้นให้ทำผิดซ้ำซากขึ้นได้

ส่วน ปัญหาทางจิตเวช นั้น ก็มีส่วนทำให้เกิดการทำผิดขึ้นได้ เช่น ผู้ที่มีระบบความคิดบกพร่อง หรือระบบสมองบกพร่อง หรือตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางจิตใจ หรือขาดความมั่นคงทางจิตใจ ซึ่งภาวะของโรคก็มีผลกระตุ้นได้เช่นกัน…

และกับ “ปัจจัยทางสังคม” ทางผู้สันทัดกรณีท่านเดิมอธิบายไว้ว่า… หัวข้อนี้อาจหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กวัยรุ่น อาทิ สภาพครอบครัว และชุมชนรอบตัว ที่สามารถ เป็นปัจจัยส่งผลโดยตรงต่อการเป็นอาชญากรเด็กได้ นอกจากนี้ ในมุมของอาชญาวิทยาสังคม ปัญหาการคบเพื่อนที่ไม่ดีก็มีผลชักนำไปสู่เส้นทางการประกอบอาชญากรรมของเยาวชนได้เพิ่มขึ้น จากการที่ได้เรียนรู้ทั้งวิธีการและเทคนิคจากกลุ่มเพื่อนที่ไม่ดี หรือแม้แต่การได้รับแรงจูงใจและการกระตุ้นจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งมีผลกับการ “เลียนแบบอาชญากรรม” ในวัยรุ่น รวมถึง “ความถี่ในการก่ออาชญากรรม” ด้วย

การเป็นยุวอาชญากรอาจมีหลายสาเหตุหลายปัจจัยเสริมกันและกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจมีทั้งที่ควบคุมไม่ได้และที่สามารถควบคุมได้… การเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เข้าสู่วงการอาชญากรรมเป็นสิ่งสำคัญ ที่ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ควรศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรเด็ก” …ทาง ผศ.ร.ต.อ.ดร.คทารัตน์ ชี้ไว้ถึง “ความสำคัญ” ของการที่ “ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันแก้ปัจจัยบ่มเพาะ”…

กรณี “อาชญากรเด็ก!!-แก๊งวัยรุ่นโหด!!”

“มุมวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา” ก็ “น่าพินิจ”

เช่นไร?-อย่างไร?…ดูกันต่อตอนหน้า…