ภาวะอ้วน ที่มีน้ำหนักมาก ๆ ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ โรคหัวใจ ฯลฯ โรคเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดง่าย อีกทั้งเมื่อมีน้ำหนักเยอะไขมันสะสมมาก ยังจะดันกระบังลมขึ้นไปเบียดกับขนาดของปอด ส่งผลให้ปอดมีขนาดเล็กลง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่ายและหายใจลำบาก เมื่อติดเชื้อแล้วอาการมักจะรุนแรง ส่งผลทำให้อาการแย่ลงได้อย่างรวดเร็วกว่าคนปกติ

หลายปัจจัยทำติดเชื้อง่ายป่วยหนัก

ทำไมภาวะอ้วน กลายมาเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิดได้ง่ายนั้น?  ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วย ผจก.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันในไทยตอนนี้มีสถิติคนที่น้ำหนักเกินอยู่มาก ภาวะนี้จะส่งผลทำให้ ภูมิคุ้มกัน ในร่างกายลดลง ยิ่งในช่วงวิกฤติ   โควิด-19 ระบาดระลอกนี้จึงจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น เพราะเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้มีอาการรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้  ขณะเดียวกันในกระบวนการรักษาโควิดผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ก็ยังมีความยากลำบากในกระบวนการรักษา เช่น การเอกซเรย์ หากมี น้ำหนักมาก ภาพบนฟิล์มที่ออกมา จะเห็นอวัยวะภายในไม่ชัด ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น

ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง จะต้องทำการพลิกตัวผู้ป่วยให้นอนคว่ำ เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีการหายใจที่ดีขึ้น ซึ่งในสภาวะที่ ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก ๆ จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องมาช่วยกันพลิกตัวในกระบวนการนี้มาก นอกจากนี้ถ้ามอง ผลกระทบต่อปอด สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะทำให้ไขมันไปพอกตามร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจตั้งแต่บริเวณคอ ที่บีบตัวเล็กลง ทำให้หายใจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพลดลง เวลาไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนไอจามก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิดได้มาก เพราะตามปกติร่างกายมีการสร้างภูมิต้านทานผ่านการพัดโบกของพื้นผิวหลอดลม ที่มีส่วนช่วยดันเชื้อไวรัสออกมา แต่เมื่อมีการทำงานไม่ปกติ จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ประกอบกับคนอ้วน ต้องหายใจแรงขึ้น ยิ่งในคนที่มีอาการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ จะยิ่งกระตุ้นให้ต้องหายใจแรงขึ้น ซึ่งพอติดโควิด ที่เชื้อไวรัสมักจะลงปอด เลยทำให้โอกาสเสียชีวิตของคนกลุ่มนี้มีมากขึ้น สิ่งนี้ทำให้แพทย์ที่รักษาต้องประเมินผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ยาได้ทันเวลา นอกจากนี้กระบวนการรักษาโดยใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ จะยากกว่าคนผอม จึงทำให้แพทย์ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมค่อนข้างมาก

ยิ่งในผู้สูงอายุที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วยจะค่อนข้างเสี่ยง และมีภาวะที่จะต้องนอนห้องไอซียูมากขึ้น ดังนั้นคนที่มีภาวะอ้วนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ควรดูแลรักษาตัวเองไม่ให้ป่วย ขณะเดียวกันควรหันมาดูแลตัวเองแบบค่อยเป็นค่อยไป ควรใช้ความตระหนักรู้ในช่วงนี้เป็นแรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย และดูแลตัวเอง

พลิกวิกฤติแนะถือโอกาสลดน้ำหนัก

ขณะเดียวกัน เครือข่ายกลุ่มคนไทยไร้พุง ก็ร่วมกับทาง สสส.พยายามจัดเสวนาผ่านทางออนไลน์ รณรงค์ ชวนคนไทย “ฟิตติดบ้านต้านโควิด-19” หยุดอ้วนห่างไกลโควิด เชิญนักวิชาการหลากหลายท่านมาสลับผลัดเปลี่ยนให้ความรู้ด้านสุขภาพเพื่อเป็นประโยชน์ในช่วงโควิด ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันพบ คนอ้วน มากกว่า 800 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2557 ถึง ปัจจุบัน พบคนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะอ้วน และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม

ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นภัยคุกคามชีวิต เพราะความอ้วน คือ จุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง เกิดปมด้อย อาจมีปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า หากทุกคนรู้วิธีป้องกัน และดูแลเรื่องอาหารและมีกิจกรรมทางกาย จะช่วยลดความเสี่ยงได้ อย่างไรก็ดีเราสามารถป้องกันไม่ให้อ้วนได้ โดยกินอาหารที่พอเหมาะให้ได้พลังงานเพียงพอกับงานและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน คนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนัก สามารถเน้นการลดปริมาณอาหารที่กินให้น้อยลงได้ด้วยการเลือกรูปแบบการกินอาหารแบบใดก็ได้ เช่น แบบอาหารคีโต (Keto diet) กินแบบจำกัดเวลา หรืองดอาหารช่วงยาวในแต่ละวัน

น.ส.อรณา จันทรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวในช่วงเสวนาออนไลน์ไว้ว่า การมีกิจกรรมทางกาย หมายถึง กิจกรรมที่มีการใช้พลังงานในทุกรูปแบบ “ทุกขยับนับหมด” จึงสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะเมื่อมีเวลาออกกำลังกาย การมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง ในระดับความหนักที่มากพอ เป็นส่วนสำคัญในการลดหรือควบคุมน้ำหนักและป้องกันโรคเรื้อรัง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้แข็งแรงและจิตแจ่มใส คนอ้วนที่เริ่มลดน้ำหนักแนะนำให้ตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ที่ตัวเองทำได้ อาจเริ่มจากการเดินให้ครบ 8,000-10,000 ก้าวต่อวัน จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวันต่อการพิชิตเป้าหมายนั้น เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้ว การหาสถานที่และวิถีการใช้ชีวิตที่สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย

ขณะที่ รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่ง  ประเทศไทยฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางการแพทย์คนที่มีภาวะอ้วนจะมี ภูมิคุ้ม กันต่ำ ถ้าติดโควิด-19 อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็น กลุ่มเสี่ยง ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรก ๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย

หนุนเสริมสร้างพลังสุขภาพ

ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า “โรคอ้วน” นับเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิดอย่างมีนัยสำคัญ และมีการศึกษาใน 160 ประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่มีน้ำหนักเกินมากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด จะมีอัตราผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าประเทศที่มีประชากรที่มีน้ำหนักเกินน้อยกว่า 50% ถึง 10 เท่า จากข้อมูลสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายปีที่แล้ว เก็บรายละเอียดผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แสนคน พบมีผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนสูงถึง 2.7 แสนคน (30.2%) ขณะที่ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสถิติตัวเลขชี้ว่า ประเทศไทยมีประชากรที่เป็นโรคอ้วน มากเป็น อันดับ 2 รองจากประเทศมาเลเซีย โดยในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วน 34.7% (เพศหญิง 38.3%, เพศชาย 30.9%)

สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคอ้วนและลดความเสี่ยงโรคโควิด-19 รวมถึงโรคอื่น ๆ ซึ่งมีรายละเอียด อาทิ 1.รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เช่น โปรตีนจากเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่ว ไข่ หลีกเลี่ยงอาหารมัน ทอด และอาหารที่มีไขมันทรานส์ เลือกทานคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช รวมทั้งลดการทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น แป้งหรือขนมปังขาว ผลไม้หวาน และเพิ่มการทานอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่ที่สูง เลือกทานอาหารที่เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ ได้แก่ ส้ม มะละกอ แครอท แอปเปิล พริกแดง พริกหยวก ผักใบเขียว บรอกโคลี กระเทียม ขิง ขมิ้น กระชายขาว ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ

2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เด็กควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 1 ชม./วัน ส่วนในผู้ใหญ่ควรมีกิจกรรมทางกายที่เหนื่อยระดับหนึ่งอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที รวมแล้วควรมากกว่า 150 นาที/สัปดาห์ 3.ลดความเครียด โดยหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หรือฝึกหายใจลึก ๆ ที่ช่วยผ่อนคลายช่วยให้ปอดแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดีอีกด้วย และ 4.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และเข้านอนก่อน 22.00 น. เป็นสิ่งสำคัญมากในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน และควบคุมน้ำหนัก มีการศึกษาพบว่า ถ้าเรานอนดึก วันต่อไปเราจะหิวและทานอาหารมากขึ้นอย่างชัดเจน.