ปัจจุบันประชาชน และผู้ประกอบการบ่นกันมากเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่มีการเรียกเก็บตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย เพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.3% ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ ต้องจ่ายภาษี 1.2% หรือถ้าหลบเลี่ยงไปเป็นที่ดินเกษตรกรรมก็จ่ายเพียง 0.15% หากใครไม่จ่ายตามกำหนดจะเจอค่าปรับ และถ้าล่วงเลยไปถึงวันที่ 30 ก.ย. ทางหน่วยงานจัดเก็บภาษีจะมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานที่ดิน(กรมที่ดิน) เพื่อไม่ให้มีการทำธุรกรรมที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จนกว่าจะไปจ่ายภาษีก่อน

ทีมข่าว Special Report สนทนากับ นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองวังสะพุง เกี่ยวกับกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นายเลิศศักดิ์กล่าวว่าอันที่จริงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะต้องเก็บ การให้เหตุผลว่าเพื่อให้องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นมีรายได้ และลดภาระเรื่องงบประมาณอุดหนุนจากส่วนกลางนั่นก็ถูก

กฎหมายออกโดยสนช.พลาดตั้งแต่แรก!

แต่อย่าลืมว่ากฎหมายตัวนี้พลาดมาตั้งแต่แรก เพราะเป็นกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขณะนั้นไม่มีฝ่ายค้านช่วยเสนอแนะและท้วงติงตรวจสอบ คือเรียกเก็บภาษีจากฐานของทรัพย์สิน ไม่ได้ประเมินจากฐานรายได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการตัดการใช้ “ดุลพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกไป

ดังนั้นคนร่ำรวยที่ดินจึงเสียภาษีเท่ากับเกษตรกร ถ้าสามารถหลบเลี่ยงโดยการนำที่ดินไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกมะนาว มะม่วง กล้วยน้ำว้า นี่คือการหลบเลี่ยงภาษีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของคนเมืองที่ร่ำรวยที่ดิน

จริงๆ แล้วกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ มีผลตั้งแต่ปี 63 แต่อ้างว่าท้องถิ่นยังไม่พร้อม แล้วมาเกิดโรคระบาดโควิด-19 จึงผ่อนผันให้มีการเก็บภาษีแค่ 10% ของจำนวนเต็ม โดยรัฐบาลผ่อนผันให้ 2 ปี (ปี 63-64) แล้วมาเรียกเก็บเต็ม 100% ในปี 65 คนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า ยังไม่ได้ทำประโยชน์ เพราะสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ไม่รู้จะลงทุนทำอะไร จึงบ่นกันมากที่ต้องมีภาระภาษีที่ดินว่างเปล่า และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้มีรายได้ขึ้นมา

“คนทำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เดือดร้อนกันมากในเรื่องภาษีตัวนี้ เพราะธุรกิจการท่องเที่ยวย่ำแย่มากว่า 2 ปีแล้ว พอกลางปี 65 เริ่มเปิดประเทศได้บ้าง เพิ่งเริ่มมีแขกเข้าพักบ้างแต่ยังไม่มาก หรืออีกหลายแห่งยังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมปรับปรุง แต่เมื่อเจอเรียกเก็บภาษาเต็ม 100% จึงลำบากกันมาก โดยที่ผ่านมาสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเคยเข้าร้องขอความเห็นใจจากรมว.คลัง แต่รัฐบาลไม่ฟังเขา”

ควรตัดงบประมาณชดเชยให้ท้องถิ่นไปก่อน

นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อไปว่ารัฐผ่อนผันให้ 2 ปี โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีแค่ 10% แต่อีก 90% รัฐกลับไม่จ่ายชดเชยให้ท้องถิ่น ผ่านมาปีที่ 2 ก็ไม่จ่ายชดเชยอีก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเดือดร้อนมาก เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนาพื้นที่ แต่พอประชาชนกลับมาเริ่มตั้งตัวทำมาหากิน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่งคลี่คลาย แต่รัฐกลับเรียกเก็บภาษีเต็ม 100% ทั้งที่รัฐมีทางเลือกที่จะจ่ายชดเชย 90% ออกไปก่อน ซึ่งตกประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยรัฐตั้งงบ 30,000 ล้านบาทมาชดเชยให้ท้องถิ่น อย่าเพิ่งเรียกเก็บภาษีเต็ม 100% สามารถไปตัดงบประมาณจากตรงไหนมาก่อน หรือตัดจาก “งบกลาง” ซึ่งได้มากที่สุด 5.9 แสนล้านบาท เอาไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแค่ 30,000 ล้านบาท ไม่ได้หรือ?

“ผมเป็นนายกเทศมนตรีมาก่อน ส่วนใหญ่เทศบาล และอบต.ในต่างจังหวัด จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในแต่ละปีไม่ได้เงินมากนัก เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเสียส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยงบอุดหนุนจากส่วนกลางเป็นหลัก ไม่เหมือนเทศบาล และอบต. ใน จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ จะมีรายได้มาก มาจากการเก็บภาษีในท้องถิ่น นี่คือสภาพข้อเท็จจริง” ส.ส.เลย กล่าว

รัฐออกกฎหมายให้หลบเลี่ยง-เศรษฐกิจไม่ดี

ทางด้าน ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (รกร้างว่างเปล่า) ที่พูดกันมากในช่วง 1-2 ปีนี้ มาจาก 3 ปัจจัยคือ 1.รัฐออกกฎหมายมาแล้วให้คนสามารถหลบเลี่ยงภาษี โดยการเอาที่ดินติดถนนใหญ่ ที่ดินทำเลทองกลางเมืองไปปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว หรือต่อไปหลีกเลี่ยงกันให้เนียนๆมากขึ้น ด้วยการยกที่ดินว่างเปล่าให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ไปทำสวนสาธารณะ หรือเอาไปทำที่จอดรถของกทม. น่ารักกว่าการเอาที่ดินไปปลูกกล้วย โดยเจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว เพราะถือเป็นการยกที่ดินไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ แต่เมื่อเลยกำหนดสัญญาไปแล้ว เศรษฐกิจดีขึ้น จึงค่อยขอที่ดินคืนมา เพื่อนำไปพัฒนา หรือสามารถขายที่ดินได้แล้ว

2.รัฐขาดการประชาสัมพันธ์ เพราะจริงๆแล้วภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทยไม่ได้แพงเหมือนในต่างประเทศ ในต่างประเทศเรียกเก็บ 1% แต่ของไทยเสียภาษีไม่ถึง 1% ของราคาประเมิน โดยปีหนึ่งคุณเสียภาษีไม่ถึง 1% ในขณะที่มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 2-3%

ในประเทศไทยราคาประเมินที่ดินสูงสุดใจกลางเมืองหลวงประมาณ 1 ล้านบาท/ตารางวา แต่ราคาตลาดที่มีการซื้อขายกันจริงๆ พุ่งขึ้นไปถึง 3.5-3.8 ล้านบาท/ตารางวา แต่จ่ายภาษีตามราคาประเมิน หรือคนจนๆมีรถมอเตอร์ไซค์มูลค่าคันละ 4-5 หมื่นบาท ในแต่ละปีต้องต่อทะเบียน(ภาษี) ต่อ พ.ร.บ. ประมาณ 400-500 บาท นี่คือ 1% ของมูลค่าทรัพย์สิน มากกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยซ้ำไป แต่เราไม่อธิบายให้คนเข้าใจ ถ้าไม่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บรรดาเทศบาล และอบต.จะเอารายได้มาจากไหน สุดท้ายต้องพึ่งงบประมาณจากส่วนกลาง และส่วนกลางก็ต้องไปเรียกเก็บภาษีจากแหล่งอื่น หลีกเลี่ยงไม่พ้นต้องปรับขึ้นแวต (VAT) คราวนี้เดือดร้อนกันทั่วหน้า ข้าวของแพงขึ้น คนจนยิ่งเดือดร้อนมากถ้าขึ้นแวต

3.ปัญหาทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี คงไม่มีที่ดินทำเลทองถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่าแบบนี้ จนต้องนำไปปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อเป็นที่ดินเกษตรกรรมเสียภาษีน้อยกว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า ถ้าเศรษฐกิจเฟื่องฟู ห้องชุด คอนโดมิเนียม และอาคารพาณิชย์คงไม่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ปล่อยว่าง อย่างน้อยต้องมีคนเช่า ต้องมีการซื้อ-ขายเปลี่ยนมือ ถ้าเศรษฐกิจดีๆ ทำมาค้าขายคล่อง อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่ถือว่าแพงเลย และเสียงบ่นจะน้อยกว่ายุคนี้