ซึ่งกับกรณีล่าสุดที่ว่านี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอละไว้ไม่ลงรายละเอียด เพราะชาวพุทธไทยก็คงจะทราบ ๆ กันอยู่แล้ว โดยเรื่องเกี่ยวกับวงการพระภิกษุสงฆ์นั้น ณ ที่นี้ในวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะเชิญชวนชาวพุทธไทยมาลองพินิจพิจารณางานวิจัย… งานวิจัยวงการพระภิกษุสงฆ์โดยพระภิกษุสงฆ์” …

ว่าด้วยประเด็นเกี่ยวกับ “การละเมิดพระวินัย”

วิจัย “การป้องกันการละเมิดพระวินัยของภิกษุ”

ทั้งนี้ ก่อนจะดูกันถึงงานวิจัย ก็มีแง่มุมข้อสังเกตกรณี “ปุจฉาวงการพระภิกษุสงฆ์เกิดกระแสครึกโครมบ่อย?” โดยกรณีนี้แหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีด้านพระพุทธศาสนารายหนึ่งเคยสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… สาเหตุหนึ่งที่หลัง ๆ มานี้สังคมชาวพุทธไทยมีกระแส “เหตุไม่ดีไม่งามในแวดวงพระสงฆ์” ปรากฏบ่อย ๆ นั้น…ก็อาจเพราะในยุคนี้มีการเติบโตขยายตัวของ “สื่อโซเชียล” ที่เป็นกลไก “ทำให้สังคมได้รู้ได้เห็น” พฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้ที่อยู่ในสถานะพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงเณร บ่อย ๆ ซึ่งในอดีตเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็อาจเกิดมาก แต่ไม่ได้รู้เห็นกันบ่อยเท่ายุคนี้ …นี่เป็นแง่มุม “วิสัชนา”

อย่างไรก็ดี “ป้องกันการละเมิดพระวินัยของภิกษุ” นั้นก็ “สำคัญ” ซึ่งก็มีงานวิจัยที่น่าพิจารณา ที่ทำไว้โดย พระมหาบุญส่ง สิริภทฺโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ พระมหาอดิเดช สติวโร คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ และเผยแพร่อยู่ใน วารสารพุทธมัคค์ ศูนย์วิจัยธรรมศึกษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563) โดยวัตถุประสงค์ในการทำวิจัยเรื่องนี้ ทางคณะวิจัยท่านระบุไว้ว่า… เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการละเมิดพระวินัยและค้นหาแนวทางการป้องกันการละเมิดพระวินัยของภิกษุในสังคมไทย

งานวิจัยนี้ได้สะท้อนถึง “สภาพปัญหาการละเมิดพระวินัยของภิกษุ” ไว้ว่า… การละเมิดพระวินัยของภิกษุ อาจเกิดได้จากปัจจัย 3 ประการ คือ… การไม่รู้พระวินัย การไม่ปฏิบัติตามพระวินัย การตีความพระวินัยต่างกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็อาจมี “สาเหตุ” จาก การศึกษาและการปกครองคณะสงฆ์ หรือจาก ความสัมพันธ์กับอุบาสก อุบาสิกา รวมถึงอาจมีสาเหตุจาก สภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากในอดีต …เป็นการวิเคราะห์ปัจจัย-สาเหตุ

กับ “3 ปัจจัย 3 สาเหตุ” ที่ “น่าพินิจพิจารณา”

กับกรณีปัญหา “การละเมิดพระวินัยของภิกษุ”

ในรายงานวิจัยที่มีการเผยแพร่ไว้ ได้ชี้ไว้ว่า… การที่จะถือว่าภิกษุนั้น “ละเมิดพระวินัย” ก็จะต้องมี “อาการ 6 อย่าง” ได้แก่… ต้องด้วยไม่ละอาย, ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ, ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง, ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร, ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร, ต้องด้วยลืมสติ …นี่เป็นอาการต่าง ๆ ที่ถือว่าละเมิดพระวินัย

ส่วน ร้ายแรงที่สุดของการละเมิดพระวินัยของพระภิกษุสงฆ์ นั้น คือ… การ “ต้องอาบัติปาราชิก” ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “ความผิด 4 อย่าง” โดยที่จะ ทำให้ผู้ละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่ง 4 อย่าง หรือ 4 สิขาบท งานวิจัยชี้ว่ารายละเอียดในปัจจุบันก็เหมือนสมัยพุทธกาล กล่าวคือ… ภิกษุเสพเมถุน กับมนุษย์ อมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย ทางทวารหนัก ทวารเบา หรือปาก เว้นแต่ภิกษุนั้นไม่รู้สึกตัว ไม่ยินดี วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน ประสบกับทุกขเวทนาหนัก, ภิกษุลักเอาทรัพย์ ที่คนอื่นไม่ให้ ได้ราคา 5 มาสก เว้นแต่ถือเอาด้วยความคุ้นเคย คือเคยเห็นกันมา เคยคบกันมา เคยบอกอนุญาตกันไว้ เขายังมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเมื่อเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ, ภิกษุจงใจฆ่าเองหรือใช้ให้คนอื่นฆ่ามนุษย์ให้ตาย เว้นแต่ไม่ได้จงใจฆ่า ไม่รู้ ไม่มีความประสงค์จะฆ่า วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน ประสบทุกขเวทนาหนัก, ภิกษุจงใจอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน เว้นแต่ผู้สำคัญว่าได้บรรลุ ไม่มีความประสงค์จะกล่าวอวด วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน ประสบทุกขเวทนาหนัก

ทั้งนี้ งานวิจัยพระภิกษุสงฆ์โดยพระภิกษุสงฆ์ดังกล่าวยังได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาการละเมิดพระวินัย ป้องกันการต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งโดยสังเขปมีว่า… มีหลายวิธีที่นำมาใช้ได้ ทั้งการแก้ปัญหาผ่านมาตรการทางพระวินัย และการแก้ด้วยการใช้หลักธรรม ผ่านแนวทางต่าง ๆ คือ…กรณี “เสพเมถุน” แนวทางป้องกัน ปลูกฝังให้ภิกษุยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมในกาม รักษาสมณสัญญา มีหิริโอตตัปปะ ไม่ทำตัวใกล้ชิดสนิทสนมกับสตรีจนเกินไป รวมทั้งระมัดระวังการใช้คำพูด การให้ความสงเคราะห์ การเกี่ยวข้องกับสตรี เพราะแม้ว่าใจบริสุทธิ์แต่ก็อาจเป็นที่ครหานินทาของประชาชน

กรณี “ลักทรัพย์” แนวทางป้องกัน ปลูกฝังให้ภิกษุพยายามไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ของบุคคลอื่น ของวัด รักษาปาริสุทธิศีล 4 ให้บริสุทธิ์ ดำรงชีพด้วยความมักน้อยสันโดษในปัจจัย 4 หากต้องดูแลทรัพย์สินควรมอบหมายให้ไวยาวัจกรหรือกรรมการวัดดูแล ตั้งเป็นคณะกรรมการและทำบัญชีชัดเจน รวมถึงมีการตรวจสอบโปร่งใส, กรณี “ฆ่ามนุษย์” แนวทางป้องกัน เช่น ลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายคนอื่น หากจะมีการจัดกิจกรรมก็ต้องรอบคอบ ไม่เกิดผลกระทบต่อคนอื่น กรณี “อวดอุตริ” แนวทางป้องกัน เช่น หมั่นพิจารณาหน้าที่ของบรรพชิตให้เกิดสมณสัญญา เป็นต้น

เหล่านี้คือปัจจัย-สาเหตุ กับ “ละเมิด-อาบัติปาราชิก”

กับ “แนวทางป้องกัน” ที่ “ทุกฝ่ายก็ต้องหนุนสงฆ์” …

“สกัดกรณีผ้าเหลืองมัวหมอง” ที่นับวันยิ่งหนัก!!!.