สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ว่า ข้อมูลใหม่ที่เปิดเผยโดยดับเบิลยูเอชโอ ได้ยืนยันว่า ในความเป็นจริง คนทั่วโลกกำลังหายใจอยู่ในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดับเบิลยูเอชโอจึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดระดับมลพิษทางอากาศ โดยระงับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นภัยต่อสุขภาพของประชากรหลายพันล้านคน เพื่อนำไปสู่การป้องกันการเสียชีวิตของประชากรอีกหลายล้านคน

โซฟี กุมี นักวิชาการในสำนักงานสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพ ของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า ข้อมูลได้แสดงให้เห็นว่า คุณภาพอากาศที่ต่ำที่สุดอยู่ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา

“จริงอยู่ที่ว่า การเสียชีวิตของประชากร 7 ล้านคน ส่วนมากเป็นคนจากประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ” กุมี กล่าว “แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ประเทศรายได้สูงจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย คุณรู้ว่าพวกเราใช้การเสียชีวิตในการคำนวณผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่าคุณควรนับรวมถึงการเจ็บป่วย โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ มีหลายผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในรูปของการเสียชีวิตเสมอไป”

รายงานของดับเบิลยูเอชโอ เปิดเผยว่า อันตรายอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศในระดับต่ำก็ตาม ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถผ่านลึกไปถึงปอดและเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และผลกระทบต่อระบบหายใจ นอกจากนี้ ไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) สามารถทำให้เป็นโรคหอบหืด และโรคระบบหายใจอื่นๆ ได้อีกด้วย

มาเรีย เนย์รา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพ ของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถส่งผลต่ออวัยวะในร่างกายได้เกือบทุกส่วน เธอบอกว่านี่คือปัญหาสุขภาพหลัก ที่คาบเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น สาเหตุของมลพิษทางอากาศควรถูกจัดการด้วยวิธีที่คล้ายกัน

“เราต้องเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ทันสมัย และยั่งยืน” เนย์รา กล่าว “ฉันคิดว่าพวกเราต่างเห็นพ้องกันว่า การพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลังงานจะต้องเปลี่ยนไป หากเราต้องการปกป้องสุขภาพของเรา”

นอกจากนี้ ดับเบิลยูเอชโอยังได้แนะนำมาตรการต่างๆ อาทิ การสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและไม่แพง, การตรวจวัดการปล่อยมลพิษของยานพาหนะอย่างเคร่งครัด, การลงทุนในเรื่องบ้านประหยัดพลังงานและการผลิตพลังงาน และการปรับปรุงการจัดการของเสียจากภาคอุตสาหกรรมและท้องถิ่น

เครดิตภาพ : REUTERS