นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.นี้ ก.ล.ต.จะเปิดรับฟังความเห็นปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้โทเคนดิจิทัล อย่างโทเคนดิจิทัล เพื่อใช้ประโยชน์ หรือยูทิลิตี้โทเคน นำมาใช้แลกเปลี่ยนสินค้าธุรกิจภายในบริษัทเดียวกันว่า จะมีรูปแบบการใช้เป็นอย่างไร ขอบเขตลักษณะการใช้โทเคนดิจิทัลได้แค่ไหน เพื่อให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ออกวงกว้าง เช่น จับมือกับบริษัทภายนอก อาจเป็นสื่อกลางชำระเงินเหมือนกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กังวล

“ยูทิลิตี้โทเคน จะต้องดูรูปแบบการใช้เป็นอย่างไร เจาะจงแลกเหรียญเท่าไร หรือเทรดในตลาดและจับมือวงกว้างมากขึ้นหรือไม่ ถ้าจับมือภายนอกธุรกิจในเครือก็อาจเข้าข่ายสื่อกลางชำระเงินหรือไม่ ถ้าเกิดเข้ามาทดแทนเงินบาทจะกระทบกับเงินบาท กระทบเสถียรภาพการกำกับดูแลของ ธปท. หากใช้แวงแคบ สิทธิชัดเจน เหมือนกับใช้กิฟต์วอชเชอร์จากกระดาษเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าใช้ในวงจำกัดก็ไม่น่าห่วง สามารถทำได้”

สำหรับเกณฑ์กำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จะมีผลใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย.65 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท ต้องไม่โฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการ, ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ, ไม่เปิดกระเป๋าเงินวอลเล็ท เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ, ไม่ให้บริการโอนเงินบาท จากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีของบุคคลอื่น, ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีอื่น เพื่อการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล และไม่ให้บริการอื่นใดในลักษณะที่เป็นการสนับสนุน การชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า จากหลักเกณฑ์ห้ามของ ก.ล.ต.จะเป็นตัวกิจกรรมการรับชำระค่าสินค้าของสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโตเคอร์เรนซี เช่น บิตคอยน์ อีทเทอเรียม เพราะหากไปใช้จ่ายแพร่หลายจะเกิดความเสี่ยงในด้านราคามูลค่าของเหรียญนั้น จะเกิดความเสียหายทั้งผู้ใช้และร้านค้า อาจให้มูลค่าเหรียญลดลงและขาดทุนได้ ซึ่งเหรียญคริปโตกลุ่มนี้เหมาะกับการลงทุนมากกว่า

ส่วนโทเคนดิจิทัล ทาง ก.ล.ต.กำลังพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนคริปโต แต่ต้องดูว่าโทเคนดิจิทัล ประเภทยูทิลิตี้โทเคนจะเป็นอย่างไร และ ธปท.กำลังดูบางประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น สเตเบิลคอยน์ไหนที่มีเงินบาท หรือเงินดิจิทัลซีบีดีซีของ ธปท.หนุนหลัง อาจมาใช้ชำระเงินได้ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต แต่ถ้ามีเหรียญอะไรถ้าบอกใช้วงจำกัดก่อน แล้วขยายไปวงกว้าง ก็อาจไม่เหมาะสม โดยซีบีดีซีเป็นเหมือนเงินตรา ต้องการให้คุณสมบัติของซีบีดีซีต่อยอดพัฒนานวัตกรรมอื่นได้ ทำให้การใช้เงินดิจิทัลมีประโยชน์มากขึ้น โดยจะทดลองวงเล็กก่อนปลายปีนี้ และใช้จริงต้องมีระยะเวลาอีกสักพัก

“ที่ผ่านมาเริ่มเห็นมีธุรกิจเกี่ยวข้องสินทรัพย์ดิจิทัลมาก เช่น อสังหาฯ ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง รถหรู ที่เปิดให้ซื้อด้วยคริปโตได้ ความเป็นห่วงของ ธปท.ที่นำคริปโตมาใช้คือมูลค่าผันผวน และจะเกิดผลกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะไม่ใช่เงินบาท การดูแล ธปท.จะทำได้ยาก และอาจเป็นแหล่งฟอกเงินเพราะไม่รู้ที่ไปที่มาของเงิน รวมถึงคนไม่คุ้นเคยในเทคโนโลยี ไม่เข้าใจก็เกิดความเสี่ยงได้”