ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่หนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์เดลินิวส์ รวมถึงเพจเฟซบุ๊ก “ข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์” ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ผลการประชุมติดตามการดำเนินการในการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในเดือน เม.ย. 65 นั้น

ปรากฏว่า เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนค่อนข้างมาก มีประชาชนบางรายส่งความคิดเห็นมายังกล่องข้อความ (Inbox) ขณะที่บางรายเลือกที่จะแสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์” ใต้เนื้อหาข่าวที่นำเสนอ ซึ่งหากประมวลความคิดเห็นทั้งหมด พบว่า ผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้ง 100% ไม่มีใครเห็นด้วยกับการให้ ทอท. เข้ามาบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของ ทย. โดยบางคนตั้งคำถามว่า การทำแบบนี้ถือว่าเอาทรัพย์ของรัฐให้เอกชนทำหรือไม่ เพราะ ทอท. เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นการเพิ่มทุน และสร้างกำไรให้ ทอท. หรือไม่

นอกจากนี้ บางคนมีข้อกังวลว่า เมื่อให้ ทอท. เข้ามาบริหารจัดการแล้ว อาหาร และเครื่องดื่มที่จำหน่ายในท่าอากาศยาน รวมทั้งค่าจอดรถ จะมีราคาแพงกว่าเมื่อครั้งที่ท่าอากาศยานบริหารโดย ทย. หรือไม่ ซึ่งมีหลายคนเข้ามาตอบคำถามให้ว่า แพงขึ้นแน่นอน เพราะเปลี่ยนการบริหารจากหน่วยงานรัฐเป็นเอกชน โดยเอกชนต้องทำอะไรให้ได้กำไร ซึ่งสิ่งที่ผู้โดยสารต้องจ่ายเพิ่มแน่ ๆ คือ ภาษีสนามบิน หรือค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) ปัจจุบันหากเดินทางภายในประเทศ ทย. เก็บอัตรา 50 บาทต่อคน และระหว่างประเทศ เก็บอัตรา 400 บาทต่อคน แต่หาก ทอท. เข้าบริหาร ผู้โดยสารต้องจ่ายเพิ่มขึ้น โดยภายในประเทศจัดเก็บอัตรา 100 บาทต่อคน ส่วนระหว่างประเทศ เก็บอัตรา 700 บาทต่อคน

ขณะเดียวกัน มีประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามว่า ทย. เพิ่งจะใช้งบประมาณแผ่นดินในการพัฒนา และปรับปรุงท่าอากาศยาน แต่กลับให้ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาบริหารแทน ทำแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่ บางท่าอากาศยานเพิ่งจะพัฒนาเสร็จไปหมาด ๆ จู่ ๆ ทอท. ชุบมือเปิบซะงั้น โดยการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว มีประชาชนถึงกับเข้ามาแสดงความคิดเห็น และชักชวนกันไปฟ้องศาลปกครอง กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าฟ้องร้อง เนื่องจากเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นการนำเงินหลวงมาให้กับเอกชน

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนมองด้วยว่า ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นแหล่งทำเงินของ ทย. ถ้า ทย. ไม่มีท่าอากาศยานกระบี่ แล้วจะเอากำไรตรงไหนมาบริหารท่าอากาศยานอื่น ๆ ของ ทย. ซึ่งที่ผ่านมา ท่าอากาศยานกระบี่คือ ทำกำไรให้ ทย. เพื่อจะได้มีเงินอุดหนุนท่าอากาศยานที่ขาดทุนมาตลอด จึงมีการตั้งคำถามว่า ถามจริงว่าเอาท่าอากาศยานกระบี่ไปทำไม เพราะเอาไปก็ไม่เห็นพัฒนาอย่างที่ควรเป็น อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนจากสังคม ซึ่งการดำเนินนโยบายเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ที่มีอำนาจสูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ นั้น ปัจจุบัน ทย. อยู่ระหว่างการพัฒนา และปรับปรุงท่าอากาศยาน โดยในส่วนของท่าอากาศยานอุดรธานีนั้น อยู่ระหว่างดำเนินโครงการงานก่อสร้างทางเดินเชื่อมภายใน และปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร วงเงิน 65 ล้านบาท ส่วนท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่น ๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวก วงเงิน 619 ล้านบาท และท่าอากาศยานกระบี่  อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1, 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ วงเงิน 2.92 พันล้าน.