รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักสำรวจและออกแบบ ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 65 จำนวน 93.78 ล้านบาท และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค.65 เพื่อดำเนินโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับบนทางหลวง (ทล.) หมายเลข 3486 ช่วง บ.กุดเตย-บ.ใหม่ไทยถาวร และ ทล.348 ช่วง อ.ตาพระยา-อ.โนนดินแดง ระยะทาง 48 กม. โดยแนวเส้นทาง ทล.348 ช่วง อ.ตาพระยา-อ.โนนดินแดง ตัดผ่านบริเวณเขาช่องตะโก อุทยานแห่งชาติตาพระยา ระยะทางประมาณ 3 กม. พื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.สระแก้วกับ จ.บุรีรัมย์ คาดว่าจะเริ่มศึกษาภายในเดือน มี.ค.นี้-มิ.ย.66 ใช้เวลา 15 เดือน
เบื้องต้นแบ่งการศึกษาเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 จุดเริ่มต้นจาก บ.กุดเตย พื้นที่ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว สิ้นสุดที่วงเวียน บ.ใหม่ไทยถาวร อ.ตาพระยา 20 กม. และ ช่วงที่ 2 จุดเริ่มต้นจากวงเวียน บ.ใหม่ไทยถาวร อ.ตาพระยา สิ้นสุดที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 28 กม. โดยจะศึกษาส่วนต่างๆ เช่น งานทบทวนผลการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมา ศึกษารูปแบบการขยายทางหลวง และทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก งานออกแบบรายละเอียดทางหลวง การจัดกรรมสิทธิ์ งบประมาณการก่อสร้าง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะขออนุมัติรายงาน EIA และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเสนอขอประมาณก่อสร้างได้ในปี 68 เปิดบริการปี 71
ปัจจุบันทั้ง 2 เส้นทางมีขนาด 2 ช่องจราจรไป-กลับเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) บริเวณเขาช่องตะโกมีปริมาณจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่และสงกรานต์ ข้อมูลปริมาณจราจรบน ทล.3486 ช่วง บ.กุดเตย-วงเวียน บ.ใหม่ไทยถาวร อยู่ที่ 10,000 คันต่อวัน และ ทล.348 ช่วง อ.ตาพระยา-อ.โนนดินแดงอยู่ที่ 12,300 คันต่อวัน ทั้ง 2 เส้นทางมีปริมาณรถบรรทุก 15-35%
นอกจากนี้สถิติอุบัติเหตุ 5 ปี ย้อนหลัง (1 ต.ค.59-31 ต.ค.64) บน ทล.348 สาย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว-อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกิดอุบัติเหตุ 159 ครั้ง เสียชีวิต 28 ราย เนื่องจากช่วงผ่านเขาช่องตะโก ไม่มีไหล่ทาง คันทางแคบ ลาดชัน และคดเคี้ยว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ในช่วงเทศกาลเกิดปัญหารถติดสะสมต่อเนื่องยาวหลาย กม. ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
หากขยายเป็น 4 ช่องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมให้สะดวก รวดเร็ว ลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์และสัตว์ป่าเพราะจะสำรวจการใช้เส้นทางของสัตว์ป่าในโครงการด้วย เพื่อพิจารณารูปแบบการก่อสร้างให้สอดคล้องวิถีชีวิตของสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่โครงการ อาจดำเนินการคล้ายทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก) ที่สร้างอุโมงค์และทางยกระดับเชื่อมผืนป่า ให้สัตว์ป่าได้มีโอกาสอพยพหรือเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติอย่างอิสระ ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่รบกวนการใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติของสัตว์ป่า ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการและภูมิภาคด้วย