เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ก.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คณะกรรมการ ปคม.) ครั้งที่ 3/2564 และการประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คณะกรรมการ ปกค.) ครั้งที่ 3/2564 ต่อเนื่องกัน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ได้มอบนโยบายในการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน และได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เร่งพิจารณากำหนดมาตรฐานและแนวทางการทำงานของทีมสหวิชาชีพ โดยเน้นการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เพื่อรองรับมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

พล.อ.ประวิตร กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไทยยังคงให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติในการต่อต้านการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ พร้อมกำชับหน่วยงานหลัก 3 P นำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้สัมฤทธิผลเป็นรูปธรรม เน้นย้ำการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระบบงาน มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากลในทุกมิติ และได้กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ขบวนการนำพาคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หากพบให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดทั้งวินัยและอาญาทุกราย รองนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวให้กำลังใจทุกหน่วยงาน และขอให้มุ่งมั่นทำงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดระดับประเทศไทย ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2564 ระบุว่า รัฐบาลไทยมีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ 5 ประการ อาทิ การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนขยายผล และการคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ การพัฒนาศักยภาพพนักงานอัยการและผู้พิพากษาด้านเหยื่อวิทยา การดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 9 ราย การจัดตั้งทีมพิจารณาระยะเวลาฟื้นฟูและกลไกส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ รวมทั้ง การตั้งหน่วยงานถาวรเพื่อต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต หรือ ไทแคค (TICAC) สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ถือว่าเป็นต้นแบบในภูมิภาคเอเชีย และมีจุดด้อยในการดำเนินความพยายาม 9 ประการในช่วงสถานการณ์โควิด-19

โดยที่ประชุมได้มีการอภิปรายถึงข้อเสนอแนะ15 ข้อ การรับฟังข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่คลาดเคลื่อน และไม่ได้สัมผัสกับปัญหาโดยตรงในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางการประเมินและจัดระดับสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและเหยื่อวิทยาของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แสดงท่าทีต่อทางการสหรัฐอเมริกาไปก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ ประจำปี 2564-2565 โดยมีแผนงาน/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่ครอบคลุมใน 3 ด้าน ด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ และด้านการป้องกัน.