ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬา เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมให้นักแบดมินตันทีมชาติไทย จากแคมป์เอสซีจี เตรียมตัวลุยศึกสำคัญต้อนรับปีเสือปีนี้ ประเดิม 4 รายการสำคัญว่า

โปรแกรมการแข่งขันช่วง 2 เดือนแรกในปี 2565 ของนักแบดฯ จากแคมป์ “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี” มีจำนวน 4 รายการดังนี้ 1.ศึกเวิลด์ทัวร์ซูเปอร์ 300 “โยเน็กซ์ เยอรมัน โอเพ่น” วันที่ 8-13 มีนาคม ที่เยอรมนี, 2.เวิลด์ทัวร์ซูเปอร์ 1000 “โยเน็กซ์ ออล อิงแลนด์ โอเพ่น” วันที่ 16-20 มีนาคม ที่อังกฤษ, 3.เวิลด์ทัวร์ซูเปอร์ 500 “โคเรีย โอเพ่น” วันที่ 5-10 เมษายน ที่เกาหลีใต้ และ 4.เวิลด์ทัวร์ซูเปอร์ 300 “โคเรีย มาสเตอร์ส” วันที่ 12-17 เมษายน ที่เกาหลีใต้

โดย 6 นักแบดฯ จาก 3 ประเภทที่ลงสู้ศึก ได้แก่ คู่ผสม 2 คู่ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์-“ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย, “เอ็ม” สุภัค จอมเกาะ-“เฟม” ศุภิสรา เพียวสามพราน,หญิงคู่ 1 คู่ “เอิร์ธ” พุธิตา สุภจิรกุล-“เฟม” ศุภิสรา เพียวสามพราน, ชายคู่ 1 คู่ “เอ็ม” สุภัค จอมเกาะ-“สกาย” กิตตินุพงษ์ เกตุเรน

ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ กล่าวว่า “นักกีฬาเรายังมีสิ่งที่ต้องพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขอีกหลายด้าน เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน คือ การเรียนรู้ และพวกเราได้เรียนรู้ร่วมกันกับนักกีฬาทุกครั้งที่แข่งขัน เพราะการเรียนรู้ คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ”

“เราไม่ได้ชนะคู่ต่อสู้ด้วยเกมศูนย์ในการแข่งขัน เพราะฉะนั้น เรายังต้องพัฒนาและปรับปรุง แก้ไขกันต่อไป” คือคำพูดที่โค้ชโอม-เทศนา พันธ์วิศวาส ย้ำกับนักกีฬาเสมอ การคว้าแชมป์โลกรวมถึงการกวาด 5 แชมป์ต่อเนื่อง และขึ้นสู่คู่ผสมมือ 1 โลกของ “บาส-ปอป้อ” เดชาพล พัววรานุเคราะห์-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาต่อไป

ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ กล่าวอีกว่า หลังกลับจากการแข่งขันที่ต่อเนื่องยาวนาน 3 เดือน ทั้งบาสและปอป้อ รวมถึงนักกีฬาคนอื่นๆ ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง แก้ไข ทั้งด้านร่างกาย เทคนิคทักษะกีฬา รวมทั้งทักษะวิธีการคิด ความมีสมาธิท่ามกลางความกดดันหรือแม้แต่พฤติกรรมในการดำเนินชิวิตประจำวันของแต่ละคน เพราะบางคนใช้เวลาอยู่กับโลกโซเชียลมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อระบบประสาทสายตาและสมอง รวมทั้งการพักผ่อน

โดยผลกระทบที่เกิดกับร่างกายและจิตใจที่ชัดเจน คือ ความล้าของระบบประสาทตาที่มีผลต่อปฏิกิริยาในการรับรู้การมองเห็น เพราะเมื่อใดที่ระบบประสาทตาเกิดความล้าจะส่งผลต่อการเล่นและการประมวลผลข้อมูลที่ไม่ชัดเจนในการตัดสินใจที่รวดเร็วของนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาแบดมินตัน เป็นกีฬาที่ต้องใช้ปฏิกิริยาความเร็วในการรับรู้ของตาในการมองเห็นลูกขนไก่ ถือเป็นหัวใจสำคัญ ยิ่งปัจจุบันความเร็วและความแรงในตีและการตบแต่ละครั้ง ส่งผลให้ลูกขนไก่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วโดยเฉลี่ยประมาณ 300-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น ถ้าปฏิกิริยาการตอบสนองในการมองเห็นลูกขนไก่ช้าหรือไม่ชัดเจน จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดในจังหวะการตีและการควบคุมทิศทางลูก

ในขณะที่ผลกระทบทางด้านจิตใจ คือ อารมณ์ความคิดที่จะได้รับผลกระทบตามมา ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ดีใจ เสียใจ น้อยใจ ไม่มั่นใจ ฯลฯ เมื่อได้การ Comment ที่ไร้สาระ

ส่วนในเรื่องของกระบวนการฝึกซ้อม และการเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันในปีนี้ เราได้มีการออกแบบและวางแผนการฝึกซ้อมไว้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ โดยนำข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเกมการแข่งขันที่ผ่านมา มาเป็นโจทย์หรือประเด็นสำคัญ ในการนำไปพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขข้อบกพร่องใหักับนักกีฬาแต่ละบุคคล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายตามแผนการฝึกซ้อมที่ได้กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการวางแผนเข้าร่วมแข่งขันแต่ละรายการ ก็ต้องมีการปรึกษากัน และต้องกระทำด้วยความรัดกุม เพื่อให้เราได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย และสมรรถภาพทางกลไก รวมทั้งมีเวลาในการแก้ไขข้อบกพร่อง และพัฒนาเทคนิคทักษะหรือรูปแบบเกมการเล่นให้กับนักกีฬาแต่ละคนได้อย่างเต็มที่

Cr.SCG SPORT