เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19  โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมพิจารณาแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่น พิจารณาให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ โดยให้ครอบคลุมทั้งสถานศึกษารัฐและเอกชน  

ภายหลังการประชุมนายเอนก เปิดเผยว่า ส่วนของกระทรวงที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปว่า ลดค่าเล่าเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยจะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด โดยนักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ ในกำกับของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน โดยพบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและในกำกับของรัฐ  83 แห่ง จำนวนนักศึกษา 922,794 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง นักศึกษา 396,858 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง นักศึกษา 133,782 คนสถาบันวิทยาลัยชุมชน 1 แห่ง 11,678 คน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 72 แห่งนักศึกษา 285,500 คน รวม 155 แห่ง นักศึกษา 1,750,109 คน

นายเอนก กล่าวต่อว่า โดยสถาบันอุดมศึกษาฯภาครัฐ ลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาโดยเกิน 50,000 บาท  ถึง 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 ส่วนตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ลดร้อยละ 10 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 โดยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับของรัฐและของรัฐจะแบกรับค่าใช้จ่ายโดยรัฐบาลจะแบกรับมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของการลดค่าทำเนียมและค่าเทอม และมหาวิทยาลัยรับผิดชอบ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยครอบคลุมถึงระดับปริญญาตรีปริญญาโทและปริญญาเอก รวมถึงอนุปริญญา และทุกหลักสูตร แต่หากนักศึกษาคนไหนเรียนเกินหนึ่งหลักสูตรจะลดให้เพียงหลักสูตรเดียว 

นายเอนก กล่าวอีกว่า ส่วนสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ต่อหัวคนละ 5,000 บาท เท่ากันหมดทุกมหาวิทยาลัย ทุกหลักสูตรทุกระดับส่วนที่เหลือมหาวิทยาลัยไปพิจารณาเอาเอง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถไปสั่งไม่ ได้ว่าจะให้ปรับลดค่าเล่าเรียนได้กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่มหาวิทยาลัยเอกชน.