สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมเกษตร ให้มีศักยภาพในการแข่งขันและสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกสับปะรดภูเก็ต ทั้ง 58 ราย พัฒนาการปลูกให้ผ่านการรับรอง GI และมาตรฐาน GAP เพื่อให้ผลผลิตสับปะรดภูเก็ตเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค (การผลิต การจัดการคุณภาพ การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่ง เป็นต้น) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและการตลาด

นายวิชัย แช่ตัน ประธานแปลงใหญ่สับปะรดภูเก็ต เปิดเผยว่า แปลงใหญ่สับปะรดภูเก็ต จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 มีสมาชิก 27 ราย พื้นที่รวม 617 ไร่ ในการพัฒนาคุณภาพของสับปะรดภูเก็ต จะใช้กระบวนการกลุ่มของแปลงใหญ่ ซึ่งมีหน่วยงานวิชาการต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดความรู้ และกลุ่มมีการบริหารจัดการโดยการวางแผนการผลิต การพัฒนากลุ่ม ส่งเสริมการสร้างเครือข่าย การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และจำหน่ายในตลาดพรีเมียม และรณรงค์ให้เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่สับปะรดภูเก็ตขึ้นทะเบียน GI และ ขอรับรองมาตรฐาน GAP ปัจจุบันมีเกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ได้รับเครื่องหมาย GI แล้วจำนวน 2 ราย แต่ได้หมดอายุเมื่อเดือน เม.ย.2564 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการต่อทะเบียน และผ่านมาตรฐาน GAP 3 ราย ในปี 2564 ซึ่งเกษตรกรได้ให้ความสนใจสมัครเพื่อขอรับรองเครื่องหมาย GI เพิ่มขึ้นอีก 14 ราย และคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณาเบื้องต้นแล้ว จำนวน 3 ราย และขยายผลให้เกษตรกรที่เหลือเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลปี 2563 จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ปลูกสับปะรด ประมาณ 1,555 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 1,306 ไร่ ผลผลิตออกตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 3.5-4 ล้านลูก โดยราคาจำหน่ายในช่วงปกติที่ไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ผลละ 15 -25 บาท แต่ในช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดทำให้ราคาลดลงมาอยู่ที่ลูกละ 15-20 บาท

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ปลูกแล้วจะเห็นว่าการปลูกสับปะรดภูเก็ตนั้น เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง ตามนโยบายตลาดนำการผลิต สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา รวมทั้งสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ พร้อมผลักดันส่งเสริมให้แปลงใหญ่ทุกกลุ่ม วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ใช้กลไกแปลงใหญ่ในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงส่งมอบให้ผู้บริโภค เพื่อให้สามารถจำหน่ายในตลาดพรีเมียม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและผลตอบแทนต่อพื้นที่ค่อนข้างสูง