เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานมอบรางวัลสุดยอดห้องน้ำแห่งปีของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานที่มีสถานที่ได้รับรางวัล โดยมี น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกทม. ผู้บริหารสำนักอนามัย หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีมอบรางวัล
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เรื่องห้องน้ำถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นหน้าเป็นตาของเมือง เราจะเป็นเมืองน่าอยู่ไม่ได้เลยถ้าห้องน้ำไม่ดี ตัวอย่างเช่นประเทศจีนที่เมื่อก่อนจะมีเสียงบ่นจากนักท่องเที่ยวเรื่องห้องน้ำ แต่ปัจจุบันปรับปรุงได้อย่างยอดเยี่ยม
สำหรับกทม. ยกจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็นคนวิ่งตอนเช้ามืด ซึ่งตลอดเส้นทางวิ่ง 12 กม. อาจมีช่วงที่ต้องแวะเข้าห้องน้ำบ้างกรณีฉุกเฉิน จึงต้องสำรวจและวางแผนว่าแต่ละกิโลเมตรมีห้องน้ำจุดไหนบ้าง ซึ่งไม่ได้มีทุกช่วงและบางแห่งก็ไม่ได้เปิดให้บริการช่วงดึกหรือเช้ามืด เรื่องนี้ก็สำคัญเช่นกันเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล มีผู้คนใช้ชีวิตทุกช่วงเวลา อนาคตเราอาจต้องมีการประกวดห้องน้ำสาธารณะอีกหลายรูปแบบที่มีคุณภาพและสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม เรื่องห้องน้ำเหมือนเป็นเรื่องเล็กแต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ขอบคุณทุกคนที่ช่วยพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
“อนาคตอาจจะต้องมีประกวดเพิ่ม อย่างห้องน้ำเที่ยงคืน เป็นห้องน้ำที่เปิดตลอด 24 ชม. เพราะมีผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ นักท่องเที่ยว มีคนใช้ชีวิตยามดึก โดยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหลอยู่แล้ว ห้องน้ำปั๊มน้ำมัน ในเมืองชั้นในก็หายากแทบไม่เหลือแล้ว เพราะที่ดินแพง โรงแรมก็ไม่ได้ให้เข้าง่ายๆ ต้องฝากให้พวกเราคิดด้วยว่า ให้มีห้องน้ำตลอดเวลาสำหรับทุกคน และมีคุณภาพที่ใช้ได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีนโยบายในการพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะให้มีความสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อการท่องเที่ยว โดยมุ่งพัฒนาในสถานที่สาธารณะ จำนวน 12 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ศาสนสถาน สถานีบริการเชื้อเพลิง ตลาดสด ร้านอาหาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า สถานที่ราชการ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานีขนส่ง และห้องน้ำริมทาง โดยสำนักอนามัยร่วมกับสำนักงานเขต 50 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการประกวดสุดยอดห้องน้ำแห่งปีของกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้เจ้าของสถานที่มีส่วนในการร่วมพัฒนาห้องน้ำสาธารณะให้ได้มาตรฐาน และสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้นในทุกปี
สำหรับในปี 2567 มีผู้เข้าร่วมประกวดจำนวน 216 แห่ง เป็นกลุ่มสถานีบริการเชื้อเพลิงมากถึง 50 แห่ง รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และโรงพยาบาล จำนวน 35 แห่ง
นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานที่ที่เข้าร่วมประกวดผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาสุขลักษณะห้องน้ำสาธารณะในกรุงเทพมหานครได้รับความสนใจจากเจ้าของสถานที่สาธารณะเป็นอย่างดี
ผลการตัดสินการประกวดโดยเกณฑ์สรรหาสุดยอดห้องน้ำในระดับประเทศของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ รางวัลสุดยอดห้องน้ำแห่งปีของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 มีสถานที่สาธารณะได้รับรางวัล จำนวน 17 แห่ง และรางวัลห้องน้ำมาตรฐานดีเด่น จำนวน 34 แห่ง ใน 11 กลุ่มเป้าหมาย ยกเว้นกลุ่มห้องน้ำริมทางเนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมการประกวด
และในปีนี้มีรางวัลพิเศษเพิ่มเติม คือ รางวัลห้องน้ำขวัญใจมหาชน จำนวน 3 แห่ง พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่มีสถานที่ที่ได้รับรางวัลสุดยอดห้องน้ำแห่งปีของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกียรติ ชื่นชมและให้กำลังใจแก่เจ้าของสถานที่ ผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งสถานที่ที่ได้รับรางวัลจะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าประกวดสุดยอดห้องน้ำแห่งปีในระดับประเทศต่อไป.