เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์ฟิลิปส์ในวันนี้นอกจากภาพของหลอดไฟที่มักจะผุดขึ้นมาเป็นภาพแรกในหัวของใครหลายคนแล้ว คงมีภาพของหม้อทอดไร้น้ำมัน เครื่องฟอกอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกมากมายที่เราเห็นจนชินตา แต่ในอีกขาหนึ่งที่ฟิลิปส์ทำมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทเป็นครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์ คือการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและอุปกรณ์เครื่องมือและโซลูชั่นทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้คนทั่วโลก นับถึงวันนี้ฟิลิปส์ถูกก่อตั้งมากกว่า 130 ปีแล้ว สำหรับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานขนาดนี้และมีการก่อตั้งบริษัทกระจายอยู่ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย องค์กรนี้มีกลยุทธ์การบริหารคนที่ถือเป็นทรัพยากรสำคัญของบริษัทอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะมาเจาะลึกเรื่องนี้กัน
นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจเฮลท์แคร์ เปิดเผย ว่า “ฟิลิปส์ ประเทศไทยก่อตั้งมานานกว่า 70 ปีแล้ว แม้จะเป็นบริษัทใหญ่ แต่เรามีการปรับตัวมาโดยตลอด อย่างในแง่ของธุรกิจจากเดิมเราเน้นนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาขาย แต่ในช่วง 1-2 ปีหลังมานี้ ด้วยเทรนด์เรื่องการดูแลสุขภาพและแนวโน้มของผู้คนที่มีอายุยืนมากขึ้น เราจึงได้มีการปรับเปลี่ยนโดยไปเน้นโฟกัสในกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์มากขึ้น ซึ่งจริงแล้วตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัททั้งที่เป็นบริษัทแม่ที่เนเธอร์แลนด์และในไทยเองเรามีแผนกเฮลท์แคร์มาโดยตลอด เพียงแค่คนส่วนใหญ่มักจำภาพของฟิลิปส์ในฐานะที่เป็นแบรนด์คอนซูเมอร์มากกว่า ดังนั้นก่อนหน้านี้คนที่รู้จักฟิลิปส์ในขาที่เป็นธุรกิจเฮลท์แคร์จึงจำกัดอยู่ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เสียเป็นส่วนใหญ่”
เพราะเห็นถึงความต้องการของตลาดสุขภาพและการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ฟิลิปส์ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสามบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งนอกจากเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว บุคลากรที่มีคุณภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฟิลิปส์ประสบความสำเร็จได้จนถึงทุกวันนี้
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันฟิลิปส์ ประเทศไทยมีพนักงานประมาณ 150 คน โดยระยะเวลาการทำงานของพนักงานส่วนใหญ่ที่อยู่กับฟิลิปส์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปี และมีค่าอัตราการออกจากงาน (Attrition rate) เพียงแค่ 6% เท่านั้น ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้พนักงานที่เพิ่งเกษียณไป ได้ทำงานอยู่กับฟิลิปส์มานานกว่า 35 ปีแล้ว สาเหตุที่เราให้ความสำคัญในการรักษาพนักงานให้ทำงานอยู่กับเราได้นาน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจของเราที่เน้นขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน การมีทีมที่มีความรู้ความเข้าใจในงานและมีประสบการณ์ ความคุ้นเคย ย่อมเป็นผลดีต่อการให้บริการลูกค้ามากที่สุด และลูกค้าเองก็จะรู้สึกมั่นใจหากคนที่ดูแลเป็นทีมเดิมที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้การรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรได้นานถึงเป็น Key Success ของเราด้วย เพราะเป็นสิ่งสะท้อนให้ทีมบริหารเห็นว่าเราดูแลพนักงานได้ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้วหรือยัง”
นายวิโรจน์ ยังได้เผยถึงสามกุญแจสำคัญในการรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรได้ยาวนานอีกด้วย ได้แก่
1. ให้พนักงานมีความสุขในการทำงานทุกวัน
ที่ฟิลิปส์เราสร้างสภาพแวดล้อมให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข เรามีการจัด session ให้พนักงานได้มีโอกาสฟีดแบค สื่อสารให้ผู้บริหารทราบ แล้วเราก็นำฟีดแบคเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไข เรายังให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างมีความสุข และส่งเสริมให้พนักงานได้ทำงานที่ชอบที่ถนัด และเพื่อให้พวกเขามีโอกาสได้แสดงศักยภาพและความสามารถอย่างเต็มที่ เพราะเราเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความสุขในการทำงาน Productivity หรือคุณภาพของงานจะตามมา
2.การทำให้พนักงานรู้สึกว่ามีตัวตนในองค์กร
นอกจากการทำงานที่ชอบแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการชื่นชม และทำให้พนักงานรู้ว่าพวกเขาเป็นคนสำคัญของบริษัท โดยเฉพาะบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น เราจะช่วยสนับสนุนและปูทางให้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารรุ่นถัดไปเช่นกัน
3.การส่งเสริมให้พนักงานได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆอยู่เสมอ
ด้วยฟิลิปส์เป็นบริษัทที่มีโปรดักส์เป็นเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ ดังนั้นเราจึงต้องมีการปูพื้นฐานความรู้ให้พนักงานของเราด้วย เพื่อเป็นการยกระดับความรู้ของคนในองค์กร นอกจากนี้เรายังมี Portal Philips University ให้พนักงานเข้าไปเรียนรู้สกิลต่างๆในการทำงาน และมีการอัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ ให้แก่พนักงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สัดส่วนพนักงานส่วนใหญ่ของเราอยู่ในสายงานวิศวกรรม (Engineering) จึงจำเป็นต้องมีการอัพเดทความรู้ด้านนวัตกรรมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
“ตัวผมเองทำงานกับฟิลิปส์มา 21 ปีแล้ว โดยเริ่มเข้ามาเป็นพนักงานฝ่ายขายก่อนแล้วค่อยๆพัฒนาศักยภาพจนได้มีโอกาสเข้ามาดูแลงานฝ่ายบริหารในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ผมยึดถือมาตลอดในวันที่มีทีมและลูกน้องต้องดูแลคือ เราต้องเป็นหัวหน้าที่คนในทีมสามารถเข้าหาได้ ไม่ใช่เป็นเจ้านายที่ลูกน้องเกรงกลัว ในแต่ละวันผมมักจะแบ่งเวลาจากการทำงานคอยพูดคุยกับพนักงานอยู่เสมอ เพื่อให้รับรู้ได้ว่าตอนนี้บริษัทมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างและมีแนวทางที่จะแก้ไขได้หรือไม่ ที่สำคัญหัวหน้าทีมต้องไม่ปล่อยให้แรงกดดันมากระทบพนักงานชั้นปฏิบัติ คนเป็นหัวหน้าจะต้องเป็นผู้รับไว้ก่อนเสมอ”
ในด้านความหลากหลายทางเพศก็เป็นสิ่งที่ฟิลิปส์ให้การยอมรับและเปิดกว้างด้วยเช่นกัน ที่ฟิลิปส์มีพนักงานผู้หญิงกว่า 45% และพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศกระจายอยู่ทั้งในทีมวิศวกรรม ทีมช่างเทคนิคต่างๆ ซึ่งบริษัทไม่ปิดกั้นการแสดงออกของพนักงานหรือเลือกปฏิบัติกับเพศใดๆ แต่เน้นวัดศักยภาพที่ผลงานเป็นสิ่งสำคัญ
“ผมเชื่อว่าความสุขของพนักงานเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรไม่ควรมองข้ามนะ เพราะมันเป็นมาตรวัดที่สามารถบอกได้ว่าองค์กรนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะพนักงานคือฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย และยังช่วยเป็นกระบอกเสียงที่สื่อสารกับคนภายนอกรู้ได้ว่าโปรดักส์ของเรานั้นดีอย่างไร ถ้าไม่มีคนช่วยสื่อสารตรงนี้ โปรดักส์ของเราก็จะไม่เป็นที่ถูกพูดถึง เพราะฉะนั้นคนจึงสำคัญมาก การสนับสนุนคนเก่ง การส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจและเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าองค์กรต้องการจะเติบโตไปในทิศทางใด เพราะถ้าพนักงานยังไม่รู้ว่าองค์กรจะเดินไปทางไหน ก็ยิ่งทำให้ระหว่างทางเกิดการสื่อสารคลาดเคลื่อนและการทำงานเดินไปผิดทิศทางได้ อีกทั้งการหาโอกาสดึงทาเลนท์ใหม่ๆเข้ามาเสริมทัพมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะต้นไม้ใหญ่ย่อมต้องผลัดเปลี่ยนใบตามกาลเวลา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่ฟิลิปส์ใช้เป็นหลักในการบริหารคนเสมอมาและเป็นสิ่งที่ทำให้ฟิลิปส์ประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย