ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 ในประเทศไทยแตะหลัก 1 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตก็ทะลุไปถึง 141 เป็นการทุบสถิติติด “เชื้อและเสียชีวิต” สูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิดในประเทศไทย นับแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
สถิติที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ายินดี ผลพวงของวันนี้เป็นผลมาจาก 1.การประเมินสถานการณ์ต่ำ แนวคิดสร้างสมดุล “เศรษฐกิจ” และ “สุขภาพ” ที่ไม่สามารถใช้ในได้สถานการณ์การระบาดตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่เริ่มมีสายพันธุ์ อัลฟา เข้ามาจนถึง สายพันธุ์เดลตา ที่สามารถแพร่ได้เร็ว และแรง กว่ารัฐบาลจะตื่นมายอมรับความจริง และเอา “สุขภาพนำ” เมื่อมียอดการติดเชื้อพุ่งวันละหลายพันคน ต้องเอามาตรการมาไล่ตามหลัง
ยิ่งประเทศไทยอยู่ในยุคที่การเมือง และคนในสังคมแตกแยกอย่างรุนแรง จึงเป็นเรื่องยากในการควบคุมโรคระบาดให้สงบลงได้ในเร็ววัน หนำซ้ำยังฉวยโอกาสในการทำให้ “โควิด-19” กลายเป็น “โรคระบาดทางการเมือง” โดยทำให้เกิด “โรคระบาดทางข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง” สร้างความสับสน และต่อต้านมาตรการการควบคุมป้องกันโรคต่างๆ ที่ออกมา เช่นไม่มารวมกลุ่ม ของดนั่งกินอาหารในร้าน ทุกอย่างมีคนคิดทำสวนทางกับคำแนะนำ
แม้กระทั่งเรื่องของ “วัคซีนป้องกันโควิด19” ที่จะมาเป็นตัวเสริมภูมิคุ้มกันให้กับคนในประเทศ สร้างเกราะป้องกันกันการโจมตีของเชื้อไวรัสร้าย ที่ใช้ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 2 ตัว คือวัคซีนเชื้อตาย ของซิโนแวค และวัคซีนไวรัลเว็คเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า ก็มีกระบวนการดิสเครดิต สร้างความไม่เชื่อมั่นหวาดกลัวต่อวัคซีนที่มีการนำเข้ามา บางก็หวังผลทางการค้า บางก็หวังผลทางการเมือง แต่ที่แน่ๆ มีหลายคนต้องเสียโอกาสในการได้รับวัคซีนที่มีอย่างรวดเร็ว เพราะบางคนเลือกที่จะรอวัคซีนที่ดีที่สุดจนเกิดการติดเชื้อ
ข้อมูลที่โรงพยาบาลศิริราช พบว่าคนที่มาด้วยอาการหนักส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่ได้วัคซีนไม่ครบ หรือยังไม่ได้รับวัคซีนด้วย และมีคนไข้มากกว่า 1 ใน 3 หรือ ครึ่งหนึ่งที่เข้ามาก็ปอดอักเสบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ พบเหตุผลว่าไม่ยอมฉีดวัคซีนที่รัฐจัดให้เพราะจะรอวัคซีนบางยี่ห้อในช่วงปลายปี
ล่าสุดหลังจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มแรก เป็นซิโนแวค เข็มสองเป็นแอสตร้าฯ ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ซึ่งมีการทำศึกษาวิจัยออกมาว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อเดลตาได้ ที่สำคัญคือการกระตุ้นได้เร็ว แต่ก็มีคนตัดต่อคำพูดของผู้เชี่ยวชาญองค์การรอนามัยโลก ย้ำว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายเกินไป” จนเกิดกระแสต่อต้านแนวทางของคณะกรรมการฯ อีกครั้ง แต่ผ่านไปเพียงวันเดียวก็มีความชัดเจนว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญในองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำ คือ “การที่ประชาชนไปคิดเองเออเองแล้วไปฉีดวัคซีนสลับชนิดกันเอง แต่หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศทำได้บนฐานข้อมูล และการวิจัย”
นี่เป็นหนึ่งในหลายล้านข่าวสารบนโซเชียลมีเดียที่มีการตัดต่อ สร้างข่าวเท็จ ข่าวปลอมขึ้นมา ทำให้หมอนักวิชาการวัยเกษียณ อย่าง “ศ.วุฒิคุณ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์” โฆษกกรรมการด้านวิชาการภายใต้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ระบุตอนหนึ่งในการเสวนาออนไลน์ “วัคซีนโควิด19 สำหรับสื่อมวลชน” ว่า “การฉีดวัคซีนอะไรก็ตาม ขอให้ฟังจากกรมควบคุมโรค อย่าไปเชื่อที่ส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย ที่แฝงไปด้วยความไม่รู้จริง แฝงด้วยผลประโยชน์ด้านธุรกิจ และการเมือง แม้เป็นแพทย์ในโซเชียลมีเดีย ก็ให้ดูด้วยว่าแพทย์ท่านนั้นเชี่ยวชาญด้านไหน เพราะแพทย์มีหลายประเภท ให้เลือกที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้จริงๆ ส่วนตัวแพทย์เอง ขอร้อง ให้ทำตามพระราชปณิธานสมเด็จพระราชบิดา ที่ให้ไว้ ก็ขอให้ทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์ ลาภยศสรรเสริญจะตกแก่ท่านเอง เราถูกสอนมาแบบนั้น”
บาปกรรมจริงๆ ทุกๆ โอกาสที่เสียไป ส่งผลให้มีคนติดชื้อและเสียชีวิตมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นนาทีนี้สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือร่วมมือกันหยุดโรคระบาดด้วยการยกการ์ดสูงในการป้องกันตัวเอง มาตรการภาครัฐต้องเข็มแข็ง วัคซีนต้องมีอย่างเพียงพอและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ.