เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐสภาของประเทศชิลี ลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการครองคู่ของบุคคลเพศเดียวกัน ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่หลังจากการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยาวนานมากว่าทศวรรษของคนในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

คาร์ลา รูบิลาร์ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมของชิลี กล่าวหลังจากจบการลงคะแนนเสียงว่า “วันนี้คือวันแห่งประวัติศาสตร์ ประเทศของเราได้ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งก้าวไปสู่ความยุติธรรมและความเสมอภาค ด้วยการรับรู้ว่าความรักก็คือความรัก”

วานนี้ (8 ธ.ค.) ทั้งสภาสูงและสภาล่างของชิลี ต่างลงคะแนนเสียงเห็นชอบต่อกฎหมายดังกล่าว ก่อนหน้านี้ ในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายที่อนุญาตให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามกฎหมายนั้น ได้รับการเห็นชอบบางส่วน ก่อนที่ทางวุฒิสภาจะส่งกลับมาเพื่อแก้ไขเนื้อความที่ยังคลุมเครือ

เซบาสเตียน ปิเนรา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะหมดวาระการทำงานในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนี้และคาดว่าจะเป็นผู้ลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมาย

กระบวนการผลักดันกฎหมายนี้เริ่มต้นในปี 2560 เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายแรก โดย มิเชล บาเชเลต์ ประธานาธิบดีในตอนนั้นให้การสนับสนุน ตอนนี้ชิลีได้กลายเป็น 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย ซึ่งมีประเทศในเขตอเมริกาใต้อย่างอาร์เจนตินา, บราซิล, โคลอมเบีย, คอสตาริกา และอุรุกวัย รวมในกลุ่มนี้ด้วย

“มันเหลือเชื่อว่าวันนี้เราจะทำแบบนี้ได้” โรนัลโด ฮิเมเนซ จากกลุ่ม MOVILH ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT และเป็นหนึ่งในบรรดากลุ่มใหญ่ที่สนับสนุนและช่วยผลักดันกฎหมายนี้มานานกว่าทศวรรษ

ชิลีกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ โดยมีคู่แข่งสำคัญจากสองฝั่ง ซึ่งก็คือ กาเบรียล โบริก จากฝั่งหัวก้าวหน้า และ โฮเซ อันโตนิโอ คาสท์ ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกอย่างเคร่งครัด จากฝั่งอนุรักษนิยม ทั้งสองมีวิสัยทัศน์ของอนาคตประเทศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฝั่งของคาสท์นั้น ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของเพศเดียวกัน แต่เขาก็กล่าวว่าจะยอมเซ็นรับรองกฎหมายดังกล่าว หากร่างกฎหมายนั้นผ่านสภาในช่วงที่เขาทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดี

ชิลีได้ชื่อว่าเป็นประเทศหัวอนุรักษนิยมสูง สืบเนื่องจากรากเหง้าทางศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก กระนั้นในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับกฎหมายครองคู่ของคนเพศเดียวกัน ชิลีเคยผ่านร่างกฎหมายรับรองการเป็นคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกันเมื่อปี 2558 ซึ่งอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ แต่ยังคงเสียเปรียบเรื่องผลประโยชน์ตามกฎหมายหลายประการ เมื่อเทียบกับคู่แต่งงานชาย-หญิง เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม

กฎหมายฉบับใหม่ของชิลีนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา

เครดิตภาพ : Reuters