ในโลกยุคปัจจุบัน เวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากขอให้ลูกคลอดออกมาสมบูรณ์และแข็งแรงแล้ว ยังให้ความสนใจและใส่ใจต่อพัฒนาการการเติบโตของลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางสมอง

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีสาระดีๆ มาเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องพัฒนาการของสมองลูกน้อย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ว่า หากคุณแม่อยากกระตุ้นพัฒนาการสมองของลูกในครรภ์ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ควรเป็นวิธีที่คุณแม่ทำแล้ว รู้สึกว่าตัวเองสบายดี มีความสุข ที่สำคัญต้องไม่เป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และลูกน้อย

จะกระตุ้นพัฒนาการสมองเมื่อไหร่ดี

นับตั้งแต่ไข่จากแม่และตัวอสุจิจากพ่อมาผสมกัน เกิดเป็นเซลล์ที่จะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เกิดเป็นเซลล์ที่สร้างระบบอวัยวะต่างๆ มากมายจนเกิดเป็นลูกน้อยอยู่ในท้องของคุณแม่ ขณะที่เซลล์สมองจะเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เช่นกัน โดยจะเพิ่มจำนวนและขนาด เกิดเป็นเนื้อสมองและเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสมอง และเชื่อมโยงกันเองเกิดเป็นข่ายใยเส้นประสาทอย่างมากและรวดเร็ว เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ตั้งแต่ลูกน้อยมีอายุประมาณ 8 สัปดาห์ เรื่อยไปจนถึงคลอดออกมาแล้วมีอายุ 2 ขวบ หลังจากนั้นพัฒนาการของสมองก็จะลดลง ดังนั้นช่วงเวลาทองที่ควรจะกระตุ้นพัฒนาลูกน้อยจึงควรเป็นช่วงเวลาดังกล่าว

จะกระตุ้นลูกน้อยให้สมองดีได้อย่างไร

การที่คนเราจะมีสมองดีหรือมีความเฉลียวฉลาด มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ซึ่งมี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.กรรมพันธุ์ 2.อาหารการกินของแม่ขณะตั้งครรภ์และของลูกภายหลังคลอด และ 3.สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กขณะที่อยู่ในท้องและภายหลังคลอด แล้วอีกด้วย  โดยปัจจัยเหล่านี้นำมาซึ่งแนวคิดในการกระตุ้นพัฒนาการสมองของลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ตัวอย่างวิธีกระตุ้นพัฒนาการของสมองลูกน้อยในครรภ์มารดา ที่ทำได้ง่ายๆ ไม่สิ้นเปลือง และไม่เป็นอันตราย มีดังนี้
 
1.การปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ 

คนอารมณ์ดีย่อมมีความสุขกว่าคนอารมณ์ไม่ดีอยู่แล้ว จากการศึกษาทางการแพทย์ พบว่าคุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอ จะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอนดอร์ฟิน (Endorphin) ออกมาผ่านไปทางสายสะดือไปยังลูก ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี ทั้งสมอง (ไอคิว) และอารมณ์ (อีคิว)  ในทางตรงกันข้าม คุณแม่ที่มีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความเครียดที่เรียกว่า อะดรีนาลิน (Adrenalin) ออกมาผ่านไปยังลูก ผลดังกล่าวจะทำให้ลูกคลอดออกมา เด็กงอแง เลี้ยงยาก พัฒนาการช้า

2.ฟังเพลง

ระบบประสาทการรับฟังของลูกน้อยในครรภ์ จะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน การใช้เสียงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น สำหรับเสียงที่ดีที่ควรใช้ในการกระตุ้น คือ เสียงเพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงที่มีความไพเราะและคุณแม่ชอบฟัง ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิก ทั้งนี้ เวลาคุณแม่ฟังเพลง ควรเปิดเสียงเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต และเปิดเสียงดังพอประมาณ เพื่อลูกในครรภ์จะได้ฟังเสียงเพลงไปด้วย การที่ลูกในครรภ์ได้รับฟังเสียงเพลงคลื่นเสียงจะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินมีการพัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้เมื่อลูกคลอดออกมา มีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่างๆได้ดี 
 
3.พูดคุยกับลูก

การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อยๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดี และเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด คุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อยๆด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล พูดประโยคซ้ำๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย แต่อย่าเล่าเรื่องทุกข์ใจให้ลูกฟัง มิฉะนั้นจะทำให้ลูกเครียดตั้งแต่อยู่ในท้อง

4.ลูบหน้าท้อง

การลูบหน้าท้องจะกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น การลูบท้องควรลูบเป็นวงกลม จะจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้

5.ส่องไฟที่หน้าท้อง

ลูกน้อยในครรภ์สามารถกระพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพ รวมถึงการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด การส่องไฟที่หน้าท้องไม่จำเป็นต้องไปเล็งว่าแสงจะเข้าตรงกับนัยน์ตาของลูก แค่ให้ลูกรู้ว่ามีแสงส่องเข้ามา ก็เพียงพอ

6.ออกกำลังกาย

เวลาที่คุณแม่ออกกำลังกาย ลูกที่อยู่ในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระแทกกับผนังด้านในของมดลูก ผลดังกล่าวจะกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น
 
7.เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม

เนื้อสมองของลูกน้อยในครรภ์มีองค์ประกอบเป็นไขมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นองค์ประกอบ ร้อยละ 60  กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่สำคัญต่อพัฒนาการสมองของลูกน้อยในครรภ์ คือกรดไขมันที่ชื่อ ดีเอ็ชเอ (DHA) ซึ่งมีมากในอาหารปลาพวกปลาทะเลและสาหร่ายทะเล และเออาร์เอ (ARA) ซึ่งมีมากในอาหารพวกน้ำมันพืช อาทิ น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเม็ดทานตะวัน และน้ำมันข้างโพด ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารดังกล่าวให้เพียงพอ จะทำให้ลูกในครรภ์ได้รับวัตถุดิบคุณภาพดีในการสร้างเนื้อสมองและระบบเส้นใยประสาทให้มีคุณภาพดีด้วย.