ความขัดแย้งที่กำลังก่อตัวขึ้นในขณะนี้ทางฟากการเมือง เห็นได้ชัดว่าเป็นรอยร้าวจากพรรคใหญ่ในรัฐบาล อย่างพรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น และดูเหมือนสาเหตุหลักที่ก่อฉนวนนั้นจะเป็นการโต้แย้งกันในประเด็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ในที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยได้หารือเกี่ยวกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญศึกษาพิจารณาถึงแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม เพื่อนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ ซึ่งในที่ประชุมวันนั้นมีการโต้แย้งกันระหว่าง กลุ่ม สส.ที่สนับสนุนดันกฎหมายนิรโทษกรรม และกลุ่มที่ยังคงกังวลในรายละเอียดของร่างกฎหมาย ถึงการนำข้อศึกษาดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเนื่องจาก สส.หลายคนที่มีความกังวลถึงข้อสังเกตที่ระบุเกี่ยวกับประมวลกฎหมายมาตรา 112  จนทำให้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าที่สุดแล้วจะเดินหน้าไปทิศทางใดเกี่ยวกับผลการศึกษาดังกล่าว

ท้ายที่สุดแล้วเมื่อมีการนำการศึกษาแนวทาง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็เข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยในวันที่ 24 ต.ค. ก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุม พรรคเพื่อไทยได้เรียกประชุม สส. เพื่อทำความเข้าใจตรงกันถึงการลงมติเห็นชอบกับข้อสังเกต โดยยืนยันชัดเจนว่าไม่มีความคิดที่จะนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำผิดตามความผิดในมาตรา 110  และ 112  

โดยระหว่างการประชุมก็เกิดวิวาทะเดือดกลางสภา เนื่องจากมีการใช้เวลาในการพิจารณาเกินกว่าเวลาที่แจ้งไว้ต่อที่ประชุม จนทำให้ยืดยื้อและเกิดการประท้วงอยู่บ่อยครั้ง และประธานในที่ประชุมอย่าง นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะ รองประธานสภาฯคนที่ 1  ดูเหมือนจะคุมสมาชิกในที่ประชุมไม่อยู่ จนทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นสอนมวยกับ นายพิเชษฐ์ ว่า ให้ประธานในที่ประชุมทำตามข้อบังคับ 105 โดยสั่งให้ที่ประชุมสภาฯลงมติ พร้อมกับชี้หน้า พร้อมระบุว่า ถ้าหากทำไม่ได้ให้เปลี่ยนเอาคนอื่นมาทำหน้าที่ รองประธานสภาฯ แทน จนถึงขั้นทำให้นายพิเชษฐ์ ปลุดปากท้าทาย นพ.ชลน่าน ว่า “ถ้าอยากเป็นก็ขึ้นมา” 

และเมื่อถึงเวลาลงมติ รายงานผลการศึกษา พ.ร.บ. ร่างนิรโทษกรรม ที่ประชุมได้ตีตกข้อสังเกตของกรรมาธิการศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปด้วย คะแนน 270 ต่อ 152 เสียง งดออกเสียง เสียง และไม่ลงคะแนนอีก เสียง ซึ่งการที่มติในที่ประชุมออกมาเช่นนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าผู้ที่ลงมติเห็นชอบต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้เสียงส่วนมากจากพรรคฝ่ายค้าน โดยมี สส.พรรคเพื่อไทยเพียง 11 เสียง ที่เห็นชอบ งานนี้เห็นได้ชัดว่า การที่ สส.โหวตสวนกับมติพรรคถือเป็นการฉีกหน้า นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายพรรคเพื่อไทยในฐานะประธานกรรมาธิการศึกษาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างเต็มเปา

แต่งานนี้เจ้าตัวอย่างนายชูศักดิ์ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในวันประชุม ( 24 ต.ค.) สส.ส่วนใหญ่เห็นว่าต้องรับรายงานและข้อสังเกต แต่ก็ยอมรับว่ามีบางคนไม่สบายใจ ทั้งนี้การลงมติถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ สส.ทุกคน โดยตนไม่ได้รู้สึกเสียหน้าหรือเสียใจ แต่ตนเป้นประธานทำรายงานเองจะให้ตนไม่รับก็ไม่ได้

ท้ายที่สุดแล้วรอยร้าวของพรรคเพื่อไทยจะประสานกลับคืนมาได้หรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้รอยร้าวลึกลงขึ้นเรื่อยๆ  งานนี้ประชาชนต่างก็เฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยเพราะเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล ว่าจะเกิดรอยร้าวเพิ่มขึ้นแล้วจะประคองความสัมพันธ์ภายในพรรคไปจนตลอดรอดฝั่งจนรัฐบาลอยู่จนครบเทอมได้หรือไม่ หรือจะปรากฎรอยร้าวขึ้นอีกเรื่อยๆ จนทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชน งานนี้คงตกหนักที่พรรคเพื่อไทย ต้องจับเข่าคุยและทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับคืน