มีพื้นที่แห้งแล้งขาดนํ้า มีไฟไหม้ป่า ลุกลามเป็นวงกว้าง ผู้คนล้มหายตายจากโรคความร้อน ต่อด้วยวิกฤติ Rain Bomb ฝนถล่ม นํ้าหลาก นํ้าท่วม ดินถล่ม สร้างความเสียหายให้เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ติดริมนํ้า ด้วยดินโคลนจากภูเขา เหตุการณ์ที่คล้ายกัน ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ทั้งหมดเกิดจากปัญหาความไม่ยั่งยืนตาม SDG

เมื่อเราพูดถึงภาวะโลกเดือด และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะมีคำสำคัญ ๆ อยู่ 3 คำ แต่ละคำมีแนวทางที่จัดการกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่างกัน

1.Climate Change Mitigation การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยคนกลุ่มนี้จะพยายามควบคุมการปลดปล่อยคาร์บอนต่าง ๆ เช่นการขับเคลื่อน Low Carbon Society/Net Zero/BCG รวมถึงการเร่งใช้พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด การเร่งปลูกป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน ทั้งนี้มีแนวคิดว่าเราต้องควบคุมการปลดปล่อยคาร์บอนของทุกคนไม่ให้เกิน 2 ตัน ต่อคนต่อปี เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 C แต่ดูแล้วคงจะไม่ทันการ เพราะผู้คนยังคงปล่อยคาร์บอนกันเต็มที่ อุตสาหกรรมก็ยังไม่ทำเต็มที่ เพราะกฎหมายยังไม่มีโทษรุนแรง และรัฐบาลต่าง ๆ ก็ไม่กล้าออกกฎหมายเข้มข้น เกรงจะกระทบเศรษฐกิจ และฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรค

2.Climate Change Resilience การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคนกลุ่มนี้คิดว่าเราจะมาลดปัญหา ลดคาร์บอน ไม่ทันการณ์แล้ว ที่ลดปัญหาก็ทำกันไป แต่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือผลกรรม คนกลุ่มนี้จะช่วยกันรวบรวมข้อมูล ดูเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดภัยพิบัติใหม่ ๆ ต้องเตรียมแผนอพยพ พัฒนาความสามารถในการจัดการภัยพิบัติ สร้างเครือข่ายอาสาสมัครยามวิกฤติ พัฒนาแหล่งทุน เตรียมพื้นที่รองรับการอพยพ และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เปราะบางต่าง ๆ รวมถึงผลักดันนโยบายของรัฐ ให้มีการจัดการ มีแผน มีงบประมาณช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีการเยียวยาระยะยาว

3.Climate Change Adaptation การปรับตัวสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนกลุ่มนี้ปรับ Mindset แล้วว่าหายนะมาถึงตัวแล้ว จะมาเรื่อย ๆ ต้องรีบปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดโดยด่วน เขารู้ว่าวิกฤติต่าง ๆ จะถาโถมมาอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกเรื่องไม่ว่า ร้อน ฝน หนาว แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ฝุ่นควัน ไฟป่า จะมาจนเป็นปกติ เราต้องอยู่รอด และดำเนินชีวิตในโลกแบบนี้ให้เป็นปกติให้ได้

ทั้ง 3 แนวทางล้วนสำคัญและต้องขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน

จากวงเสวนาของนักวิชาการโลกร้อน เขาตั้งวงคุยกันว่าจากวิกฤตินํ้าท่วม นํ้าหลากหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เราควรใช้วิธี ลดปัญหา Mitigation หรือเตรียมรับมือกับปัญหา Resilience หรือปรับตัวสู้ปัญหา Adaptation มีนักวิชาการเสนอแนวคิดที่น่าสนใจว่าเราน่าจะปัดฝุ่น “แนวความคิดการพัฒนาเมืองแบบสะเทินนํ้า สะเทินบก”

น่าจะถึงเวลาจัดผังเมืองใหม่ให้ยั่งยืน โดยกำหนดตามความสูงตํ่า ที่ลุ่ม ที่ดอน ทางผ่านของนํ้า พื้นที่เก็บนํ้า พื้นที่ชุ่มนํ้า ซึ่งสามารถนำแนวคิดการออกแบบภูมิสถาปัตย์แบบเมืองฟองนํ้า Sponge City ของประเทศจีนมาประยุกต์ใช้ได้ การกำหนดพื้นที่สำคัญที่ต้องหนีนํ้าให้ได้ เช่น โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า โรงผลิตนํ้าประปา ศูนย์กลางเครือข่ายโทรคมนาคม โกดังอาหาร ตลาดการค้าหลัก และสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ควรจะอยู่ที่ใด มีการปกป้องด้วยระบบกันนํ้าอย่างไร การตั้งถิ่นฐานที่พักอาศัยควรปรับใหม่อย่างไร บางส่วนคงต้องย้ายไปที่ดอน แต่บางส่วนที่อยู่ที่ลุ่มคงจะต้องสร้างชุมชนลอยนํ้า ยกเสาสูงมีทางสัญจร เหนือระดับดินเชื่อมต่อกัน ในชุมชนต้องแบ่งพื้นที่ต่าง ๆ ที่ช่วยกันรับผิดชอบ เช่นพื้นที่ผลิตอาหาร พื้นที่การศึกษา พื้นที่สาธารณสุข พื้นที่ทางศาสนา และพื้นที่ผลิตพลังงานยามฉุกเฉิน คิดเสียว่านํ้าจะมาทุกปี ปีละหลาย ๆ ครั้ง ถือว่าเป็นการเตรียมรับมือ Resilience และปรับตัวสู้ปัญหา Adaptation ไปพร้อมกัน

แต่อย่าลืมการลดปัญหา Mitigation ด้วยนะครับ ต้องรู้ว่าเราปล่อยคาร์บอนกันเท่าไร คำนวณคาร์บอนกันเป็นหรือไม่ ปล่อย
คาร์บอนกันเกิน 2 ตันต่อคนต่อปีหรือเปล่า และเราจะปลูกป่าเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนกันอย่างไร

เราจะอยู่กันแบบเดิมไม่ได้แล้ว …ว่าแต่ใครจะอาสาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตินํ้าครั้งนี้ … หรือจะเงียบ ๆ อยู่กันแบบเดิม.