ตามรัฐธรรมนูญ ( รธน. )60 ใครที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีนักการเมืองหลายคน มีปัญหาในการชี้แจง จนต้องส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ จนชี้มูลความผิด เนื่องจากแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรธน วินิจฉัย รวมถึง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยถูกป.ป.ช. ชี้ว่าแจงบัญชีทรัพย์สินอันเป็น เท็จ มีการซุกหุ้นไว้กับคนขับรถและคนใช้ แต่ในการพิจารณาของศาลรธน. ได้ลงมติรอดความผิดอย่างหวุดหวิด ด้วยคะแนนเสียง 8:7 ท่ามกลางวลี “บกพร่องโดยสุจริต” ดังนั้น เรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน จึงเป็นเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องระมัดระวัง

ขณะที่ “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ กล่าวถึงการโอนหุ้นอีก 16 บริษัทที่เหลือว่า บริษัทช่วยกันดูอยู่ จะดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. กรอบระยะเวลามีอยู่ 3 เดือน น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนพ.ย. 2567 หรือต้นเดือนธ.ค.2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างการถ่ายรูปทรัพย์สินทุกสิ่งอย่าง เมื่อถามย้ำว่ามีอะไรน่าหนักใจหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า กลัวไม่ครบ แต่จะทำอย่างเต็มที่ ได้ปรึกษารองนายกฯที่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินว่าทำอย่างไรบ้าง เพื่ออยากให้ทุกอย่างถูกต้อง

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ S__8741188_0-1280x853.jpg

ก่อนหน้านี้ “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ส่งหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ว่าได้มีหนังสือลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.67 จริงหรือไม่ เหตุใดจึงจดทะเบียนกรรมการออกในวันที่ 19 ส.ค.67 หลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯเมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา และกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ S__113123341.webp

นอกจากเข้ายื่นคำร้อง กกต. ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร กรณีเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอตคลับ จำกัด ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2567 จนถึงวันที่ 3 ก.ย.2567 เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรธน.มาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 8 หรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรธน.มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ต้องรอดูว่ากระบวนการยื่นบัญชีทรัพย์สินของ “น.ส. แพทองธาร” จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ เพราะมีการถือครองหุ้นไว้หลายบริษัท และมีทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ยิ่งบรรดานักร้องหาช่องทางในการหาประเด็นตรวจสอบ ดังนั้นจะเกิดความผิดพลาดไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นอนาคตทางการเมืองอาจดับวูบ

ส่วนคำร้องให้ตรวจสอบ “พรรคพท.” และ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ศาลรธน.มีการประชุมพิจารณาคดี ที่ “นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ยื่นคำร้องขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยตามรธน.มาตรา 49 อ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคพท. (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6 ประเด็น

ดังนี้ ประเด็นที่ 1 นายทักษิณ สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรรม กรมราชทัณฑ์ และรพ.ตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่นายทักษิณ ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต ประเด็นที่ 2 นายทักษิณ สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกฯของประเทศกัมพูชาให้มีการเจรจา พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าชธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา

ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรธน.กับพรรคประชาชน(ปชน.) ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกล(ก.ก. )เดิมที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรธน.ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯประเด็นที่ 4 นายทักษิณ สั่งการแทนพรรคพท. โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่น ที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ ที่บ้านพักส่วนตัวของนายทักษิณ ประเด็นที่ 5 นายทักษิณ สั่งการให้พรรคพท. มีมติขับพรรคพปชร. ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ประเด็นที่ 6 นายทักษิณ สั่งการให้พรรคพท. นำนโยบายของนายทักษิณ ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของครม.ที่แถลงต่อรัฐสภา

ผู้ร้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด(อสส. )เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ขอให้อสส.ร้องขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ แต่อสส.มิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรธน. มาตรา 49 วรรคสาม ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลรธน.เพื่อขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยตามรธน.มาตรา 49 ขอให้ศาลรธน.วินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณเลิกกระทำการดังกล่าว และให้พรรคพท.ย เลิกยินยอมให้นายทักษิณใช้เป็นเครื่องมือกระทำการดังกล่าว ผลการพิจารณาศาลรธน. พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลรธน.ว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในชั้นนี้ ให้มีหนังสือแจ้งอสส. เพื่อขอทราบว่า ได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อศาลรธน.ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ.

เชื่อว่า หลายคนคงรอคำตอบจากอสส. เมื่อได้รับคำร้อง “นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาของศาลรธน. ซึ่งเป็นประเด็นนอกเหนือจากกรณี “นายแสวง บุญมี” เลขาธิการกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคพท. และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม จากเหตุ “นายทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ โดยเห็นว่าคำร้องมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ที่ร้อนสุดคงหนีไม่พ้น ประเด็นการหมดอายุความของคดีการสลายการชุมนุม ที่บริเวณหน้าสภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งจะตรงกับวันที่ 25 ต.ค. 67 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คน โดยหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดำเนินการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก. ) เพื่อแก้ไขไม่ให้คดีตากใบหมดอายุความ จะได้มีเวลาไล่ล่าผู้ต้องหาที่หลบหนีคดี

ด้าน “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้ความเห็นถึงกรณีนักวิชาการเสนอรัฐบาลให้ออกพ.ร.ก. ตามมาตรา 172 ของรธน. 60 เพื่อแก้ไขให้คดีตากใบไม่มีอายุความ เพราะจะหมดอายุในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ว่า ก็ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาดูอยู่ทั้งหมด ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจเป็นหลัก ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสืบค้น นอกจากนั้นอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เราไม่ได้แทรกแซง ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน อย่าเอาเรื่องนี้มาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะจะสร้างปัญหาและกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐไทย อย่าใช้ประเด็นนี้มาอ้างว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย วันนี้สังคมไทยใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสังคมพหุนิยมอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ต้องถามว่ารายละเอียดที่เกิดขึ้นมันคืออะไร.

ขณะที่รัฐสภา กมธ. การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี “นางอังคณา นีละไพจิตร” เป็นประธาน กมธ. ฯ ได้มีประชุมเรื่องคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความอีก 3 วัน โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9 , กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า , สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานอัยการภาค 9 รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งผู้มาชี้แจงใน กมธ. มีเพียงตำรวจภูธรภาค 9 และตัวแทนสำนักงานอัยการมาเท่านั้น

ด้าน “นางอังคณา” ให้ความเห็นว่า รัฐบาลสามารถออกพ.ร.ก. ได้ เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน อาจจะไม่ใช่ขยายอายุความ แต่ให้อายุความหยุดอยู่ตรงนี้ จนกว่าจะสามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลได้ เป็นความหวังสุดท้ายของผู้เสียหาย เมื่อถามว่าทางออกสุดท้ายในการสู้คดีนี้คืออะไร นางอังคณา ระบุว่า ถ้ากลไกในประเทศไม่ทำงาน ประชาชนก็สามารถ ที่จะฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก อาจจะเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง อยากฝากไปถึงรัฐบาล ต้องหยุดในการที่จะสร้างวาทกรรมในการโยนความผิดให้ผู้เสียหาย ไม่ว่าเขาจะมีความเชื่อแบบใด บุคคลเหล่านั้นต้องไม่ตาย ไม่ต้องมาเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ

ส่วน “นายรอมฎอน ปันจอร์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. ให้ความเห็นถึงการติดตามจำเลยคดีตากใบของรัฐบาลว่า ต้องจับตาดูว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม. ) จะมีวาระพิจารณาเกี่ยวข้องกับคดีตากใบ เพราะประชาชนกำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ภายในระยะเวลาอีก 4 วันที่คดีจะหมดอายุความ เจ้าหน้าที่จะสามารถนำตัวจำเลย 7 คนในคดีราษฎรเป็นผู้ฟ้องมาที่ศาลนราธิวาส และจับกุมตัวผู้ต้องหาอีก 8 คนในคดีที่อัยการสั่งฟ้องมาพร้อม ทั้งนำมาส่งอัยการให้ทันฟ้องศาลหรือไม่

จะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายต่างทุ่มเท และเตรียมพร้อมรับมือกับทุกฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร และเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ รวมไปถึงจะมีการเปรียบเทียบกับขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในคดีอื่น ๆ ที่มีการเร่งรัดอย่างรวดเร็ว ทั้ง “คดีดิไอคอน” ที่ใช้เวลาจับกุมตัวผู้ต้องหาอย่างรวดเร็ว “คดีแป้งนาโหนด” หรือ “คดีที่เกี่ยวข้องกับนักกิจกรรมทางการเมือง” แตกต่างไปจากกรณีที่ข้าราชการผู้ใหญ่ตกเป็นจำเลยอย่างในกรณีนี้ เชื่อเลยว่า ถ้าคดีการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าสภ. ตากใบ ต้องหมดอายุความ จะมีแรงกดดันกระทบถึงรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 47 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และจะผลกระทบไปถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือไม่.