ในวันที่ 21 ต.ค. เวลา 18.00 น. “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและแกนนำพรรคร่วมรับประทานอาหารเย็นร่วมกันที่ โรงแรมโรสวูด กรุงเทพ ถนนเพลินจิต ซึ่งเป็นโรงแรมของ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาวนายกฯ เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการทำงานที่แต่ละพรรคติดขัด รวมถึงหยิบยกประเด็นทางการเมืองในทุกเรื่องขึ้นมาพูดคุย

โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุที่ กกต.รับวินิจฉัย 6 พรรคกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ที่ปล่อยให้ นายทักษิณ ชินวัตร แทรกแซงในการตั้งรัฐบาล ทำให้การประชุมครั้งนี้จะประเมินไปถึงฉากทัศน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งทางที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด และหารือถึงเรื่องการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ พรรคภูมิใจไทยจะไม่เอาแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา แต่เมื่อมีประเด็นที่ภูมิใจไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง จะเปลี่ยนท่าทีหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรตรวจสอบ และประมวลจริยธรรม รวมถึงการแก้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เรื่อง “ขอบเขตของการให้คนนอกมีบทบาทต่อพรรคอย่างไรที่ไม่เรียกว่า ครอบงำ”

“บอย” สรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีรายงานข่าวว่า กกต.รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลกรณีถูกร้อง “อดีตนายกฯ แม้ว” ครอบงำพรรค ว่า เชื่อว่าทางพรรคมีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอที่จะต่อสู้ประเด็นนี้

“แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งอยากให้หน่วยงานต่างๆ คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ เพราะทุกครั้งที่มีการร้องเรียนและหน่วยงานที่รับผิดชอบรับมาเป็นประเด็น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนตลอดจนนักท่องเที่ยวก็จะหายไปทันที ใครเคยร้องใครมา ตนมองว่าประชาชนรู้ถึงเจตนา ประชาชนมองออกว่าที่ร้องมีเจตนาอะไร” และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นเกมการเมืองหลังจากที่ผลักพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างประดังเข้ามาหลังจากที่เราประกาศไม่ร่วมงานกับพรรคการเมืองนี้

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค พปชร. เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ขอให้ กกต.ตรวจสอบว่า “นายกฯ อิ๊งค์” ยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 หรือไม่ และเป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ส่วนการเมืองอื่นๆ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ จะสามารถลงมติรับหรือไม่รับรายงานของ กมธ.วิสามัญศึกษาพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้ แต่จะโหวตไปในทิศทางไหนนั้น เราไม่สามารถบังคับเขาได้ เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. หากโหวตเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญฯ ก็ส่งต่อให้รัฐบาล (ให้ ครม.ยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) แต่รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ถือเป็นสิทธิของรัฐบาล แต่หากโหวตไม่ผ่านก็จบอยู่ที่สภา ช่วงเช้าของวันที่ 24 ต.ค.นี้ เราจะประชุมพรรค เพื่อถามมติของ สส. ก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะเห็นด้วยกับ กมธ.หรือไม่

สำหรับคดีตากใบ ที่กำลังจะหมดอายุความวันที่ 25 ต.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะคนพื้นที่ จ.ยะลา กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ช่วงนี้จะมองเชื่อมโยงหรือไม่เชื่อมโยงกับคดีตากใบหรือไม่ก็ได้ ทุกคนก็อยากให้ผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้ที่มีหมายจับมาส่งศาลก่อนวันที่ 25 ต.ค.นี้ ถ้าจับได้ ความคลี่คลายในเรื่องความเห็นต่างอาจจะลดลงไปก็ได้

“มันอาจจะเกี่ยวข้องบ้างแต่ไม่ทั้งหมด เพราะเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นก่อนอยู่แล้วแต่ช่วงนี้ถี่มากขึ้น อาจเพราะประชาชนในพื้นที่อยากแสดงออกให้เจ้าหน้าที่มีความเข้มแข็งจับกุมผู้ที่มีหมายจับ ถ้าตำรวจใช้ความพยายามจริงๆ ก็น่าจะจับได้บ้าง” ประธานสภา กล่าว ซึ่งหลายฝ่ายค่อนข้างเชื่อแล้วว่า ก่อนวันที่ 25 ต.ค.ไม่น่าจะจับผู้ต้องหารายใดได้

และต้องจับตาว่า หลังวันที่ 25 ต.ค. จะมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญกับคดีตากใบหรือไม่

“ทีมข่าวการเมือง”