จากกรณีที่มีกลุ่มแรงงานและนายจ้างกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นตัวแทน 30 บริษัทรับเหมาช่วงไทยรวมตัวกันเดินเท้าแสดงพลังยื่นหนังสือร้องขอความเห็นใจต่อเจ้าของโครงการพลังงานสะอาดใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อจี้ผู้รับเหมาใหญ่ต่างชาติ ให้จ่ายเงินค้างค่างวดพร้อมบูม PAY PAY PAY กระหึ่ม ด้านหน้าโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ พร้อมยื่นหนังสือต่อ นายชัยพร แพอภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และตัวแทนบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

ในส่วนของตัวแทนบริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงแนวทางการให้ความช่วยบริษัทผู้รับเหมาช่วงไทยที่ได้รับความเดือดร้อนว่า บริษัทฯ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 กรณี คือการแก้ไขปัญหาระหว่าง UJV กับบริษัทผู้รับเหมาช่วง ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรง ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้พยายามทำหนังสือทวงถามไปยังบริษัทแม่ UJV เพื่อให้รับผิดชอบต่อผู้รับเหมาช่วงแล้ว

ส่วนกรณีแรงงานที่ผู้รับเหมาช่วงต้องดูแลนั้น บริษัทผู้รับเหมา จะต้องดำเนินการดูแลเองเนื่อง ไทยออยล์ ไม่อาจก้าวล่วงหรือบังคับสิทธิตามสัญญาได้ ” ในกรณีนี้จะเป็นสัญญาการจ้างทำระหว่างผู้รับเหมาช่วงกับ UJV ที่ต้องดูว่าเป็นสัญญาแบบไหนไม่ว่าเป็นจะตัวผู้รับเหมาที่มาจากต่างประเทศหรือผู้รับเหมาที่อยู่ประเทศไทย

ขณะที่ นายชัยพร แพภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เผยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทางจังหวัด มีความห่วงใยมาโดยตลอด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้สั่งการให้ตนเองเดินทางมารับหนังสือความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่และหลังจากนี้จะได้เรียกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าหารือร่วมกับผู้ประกอบการ ภายใต้การพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งในเบื้องต้นจะได้มอบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวให้ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งเรื่องนี้เราติดตามมาตั้งแต่การชุมนุมครั้งก่อนที่ได้มีการเยี่ยวยาบางส่วนไปแล้ว ซึ่งผลกระทบนี้เกิดจากบริษัทต่างชาติบางบริษัท ซึ่งทางจังหวัด มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งแรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัด รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งทางจังหวัดฯจะพยายามทำให้ดีที่สุดแต่เนื่องเป็นสัญญาทางแพ่งราย ดังนั้นรายละเอียดในการดำเนินงานต้องเป็นไปตามกฏหมายแรงงาน และกฎหมายแพ่งที่ส่วนของ ไทยออยล์ ก็จะต้องให้ทีมกฎหมาย ของไทยออยล์ มาดูรายละเอียดด้วย

ด้านนายมนูญกิจ มังกรแก้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายย่อยเปิดเผยว่า บริษัทตน รับเหมางานมา 2 โครงการนี้เป็นเงิน 40 กว่าล้านบาท โดยเริ่มรับงานมาประมาณเดือน พฤษภาคม 2567 ตอนก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างมากเหมือนกับผู้รับเหมารายย่อยอื่น ซึ่งไทยออยล์ตอบแบบไม่แฟร์ ควรจะเข้ามาดูว่าปัญหาคืออะไรและจะทำให้โครงการเดินไปได้อย่างไร แล้วควรจะเข้ามาดูอย่างจริงจัง ในฐานะเจ้าของสัญญา

ขณะที่ นายสมพงษ์ ชอัมพงษ์ ผู้จัดการ โครงการ CFP พลังงานสะอาด เผยว่าการรวมตัวชุมนุมในครั้งนี้มีผู้ชุมนุมจาก 30 บริษัท รวมจำนวนกว่า 3,500 คน เพื่อกดดันให้ผู้รับเหมาหลัก จ่ายเงินค่างวดที่ค้างจ่ายประมาณ 6-7 เดือน เพื่อให้บริษัทผู้รับเหมาช่วงสามารถนำไปจ่ายให้พนักงานได้ หากไม่มีอะไรคืบหน้าเราคงต้องยกระดับการชุมนุม และทำหนังสือยื่นต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนหลายครอบครัวได้รับการเยียวยา พร้อมขอฝากถึงรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล ให้ลงมาดูแลและช่วยเหลือเราด้วย เนื่องจากกระทบแรงงานไทยหลายหมื่นคน