เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายประพาส เหลืองศิรินภา ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม  นายภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผอ.สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม  นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกทม. ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเรื่องการเช่ารถเก็บมูลฝอย (รถเก็บขยะ) ของ กทม.และแนวทางการจัดเก็บมูลฝอยหลังยังไม่ได้เซ็นสัญญาเช่ารถไฟฟ้าเก็บขยะมาทดแทนคันที่หมดสัญญาจำนวน 102 คันว่า ผู้บริหารชุดนี้ได้มีการหารือว่าควรเปลี่ยนรถเก็บขยะที่ใช้น้ำมันดีเซล เปลี่ยนเป็นใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 มีมติเป็นหลักการให้ทุกส่วนราชการพิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (รถอีวี) มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน ซึ่งในระยะแรกให้ส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตกทม. ถือปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 65 ปลัด กทม.ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าฯ กทม. ได้เห็นชอบในหลักการกำหนดให้หน่วยงานในสังกัด กทม.จัดซื้อจัดจ้างรถอีวี

สำนักสิ่งแวดล้อม ก็มีการสืบราคาเช่ารถเก็บขยะไฟฟ้าวันละประมาณ 1,665-2,240 บาท ในขณะที่รถเก็บขยะน้ำมันดีเซลราคาเช่าวันละประมาณ 2,082-2,800 บาท ซึ่งรถเก็บขยะไฟฟ้าถูกกว่าร้อยละ 20 ต่อวัน สำนักสิ่งแวดล้อมได้งบประมาณในการเช่ารถเก็บขยะชั่วคราว 270 วัน ถ้าสามารถเช่ารถเก็บขยะไฟฟ้าได้จะประหยัดงบประมาณไปได้ 127,289,084 บาท

“เพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ เราควรเช่ารถในราคาสูงหรือราคาต่ำ ถ้าสำนักสิ่งแวดล้อมอยากได้รถดีเซล แต่ราคาสูงกว่ารถไฟฟ้า สำนักงบประมาณ กทม.จะให้ไหม ถามว่า สำนักสิ่งแวดล้อมรู้ว่ารถดีเซลสูงกว่ารถไฟฟ้า แล้วเสนอราคารถดีเซลมา สำนักสิ่งแวดล้อมมีเจตนาทุจริตหรือไม่ แต่ในกรณีที่เสนอเช่าในราคาต่ำกว่า เป็นการแสดงเจตนาว่าต้องการใช้ของในราคาถูกกว่า แต่ประสิทธิภาพเท่าเทียมใช่หรือไม่”

นายจักกพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักสิ่งแวดล้อม ต้องได้เช่ารถเก็บขยะไฟฟ้าแบบยกภาชนะ ขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 102 คัน แต่ปรากฏว่าเอกสารที่เอกชนส่งมาไม่ตรงกับ TOR กทม.จึงไม่สามารถทำการจัดจ้างได้ ทำให้ไม่มีรถเก็บขยะไฟฟ้าลอตแรกมาใช้งาน กทม.จึงมีการแก้ปัญหาโดยการให้รถเก็บขยะชนิดอื่นใช้งานทดแทนไปพลางก่อน  จากการตรวจสอบพบว่ารถเก็บขยะที่มีการเช่าอยู่ วิ่งได้ไม่ถึง 200 กม.ต่อวันตามสัญญา เราจึงแก้ปัญหาด้วยการนำรถเก็บขยะที่วิ่งได้ไม่ถึง 200 กม.ต่อวัน มาใช้ทดแทนรถเก็บขยะที่หมดสัญญาเช่า 102 คัน โดยใช้คนขับคนเก็บเดิม แต่ในอนาคตสัญญาเช่ารถอื่นที่กำลังจะหมด ก็ต้องมีการจัดหาเช่ารถทดแทน  ส่วนอนาคต กทม.จะเช่ารถเก็บขยะจำนวนลดลง เนื่องจากมีการตรวจสอบพบรถเก็บขยะวิ่งได้ไม่ถึง 200 กม.ต่อวัน โดยการดูระยะการวิ่งผ่านเครื่อง GPS ประโยชน์เกิดขึ้นกับใคร มีการทุจริตหรือไม่ ซึ่งรถคันหนึ่งต้องวิ่ง 16 ชม. แบ่งเป็น 2 เที่ยว แต่ที่ผ่านมารถวิ่งอยู่แค่เที่ยวเดียว จำนวน 186 คัน

“ผมยอมรับมาเข้ามาทำงานปีแรกไม่ทราบจริงๆ ผมเพิ่งมาทราบเมื่อต้นปีนี้ ทราบมาจากเขตสายไหม รวมถึงเขตกรุงเทพฯ ตะวันออก พบมีขยะตกค้าง จึงมีการลงไปแก้ปัญหา เอาข้อมูลทุกอย่างมาดู GPS ที่ไม่เคยเห็น ก็เห็นกันคราวนี้ กรณีรถวิ่งไม่ถึง 200 กม.ต่อวัน มันก็ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นยืนยันถ้าอะไรผิดต้องแก้ให้ถูก ถ้าอะไรที่ทุจริตต้องไม่ทุจริต  ส่วนเรื่องการเช่ารถมีอยู่ 3 คำถาม 1.มีการทุจริตไหม เพราะต้องการเงินทอน สำหรับผมไม่มี  2.แต่ในกรณีได้รถล่าช้า ยอมรับว่าจริง และ 3.การทำเอกสารผิดพลาด ผมยอมรับว่าจริง หน่วยงานและผมต้องแก้ไขปัญหาตัวเอง ต้องให้มีรถได้ใช้ตรงตามเวลา การทำงานที่ถูกต้อง เอกสารครบถ้วน รวดเร็วสมบูรณ์ต้องเกิดขึ้น ถ้าตัวผมเอง เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องพัฒนาการทำงานเรื่องนี้ ปัญหาในข้อที่ 2 และ 3 ก็ไม่น่าจะเกิดตามขึ้นมา” นายจักกพันธุ์กล่าว

ด้านนายประพาส กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาข้อมูลการใช้รถเก็บขยะไฟฟ้า ซึ่งมีการใช้งานจริงที่เทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เทศบางตำบลบางปู และอบต.บางเพรียง จ.สมุทรปราการ  พบว่ามีประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะ เทียบเท่ารถจัดเก็บขยะมูลฝอยชนิดอื่นๆ และยังลดปัญหามลพิษ ลดเสียงลดการรบกวน ซึ่ง กทม.ไม่ได้เริ่มโครงการรถเก็บขยะไฟฟ้าเป็นแห่งแรกแต่มีการเริ่มใช้ในพื้นที่อื่นมาก่อนแล้ว

โฆษกกทม. กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่มาแถลงข่าวในวันนี้เพราะที่ผ่านมา เราโดนตั้งคำถามเข้ามามาก จึงต้องการที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ขอย้ำว่าการทำงานทุกอย่างของ กทม. ต้องโปร่งใส รอบคอบ รวดเร็ว รับฟัง และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ หากวันนี้เราไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าตัดสินใจ ทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนเดิม เราจะได้รถที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีราคาที่สูง แต่เชื่อว่าต่อจากนี้รถขยะใหม่จะให้บริการประชาชนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.