เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมหารือกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ให้กับบีทีเอส โดยมี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมด้วย
นายชัชชาติ ระบุ วันนี้บีทีเอสเข้าหารือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.มีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายเงิน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งได้นำเรื่องเข้าสภา กทม.เพื่ออนุมัติเงินสะสมจ่ายขาด ส่วนที่ 2 และ 3 เป็นคำฟ้องให้ชำระหนี้ตั้งแต่ปี 65-ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ทั้งนี้ คงปฏิบัติตามแนวทางส่วนแรก แต่เพื่อความรอบคอบและรวดเร็วขึ้น จะมีการตั้งคณะทำงานระหว่าง บีทีเอส กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เพื่อพิจารณาหนี้สินในส่วนที่ 2 และ 3 ขณะส่วนที่ 4 คือหนี้สินในอนาคต
สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งมีการเก็บค่าโดยสารมาแล้ว ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถกับทางบีทีเอส โดยทางบีทีเอสหารือว่าหากจ่ายมาก่อนได้จะช่วยบรรเทาภาระ กทม.ก็จะรับพิจารณาในส่วนนี้
“ส่วนเรื่องของอนาคตที่จะมีสัญญาจ้างเดินรถต่อไปถึงปี 85 ก็ควรทำให้ถูกต้อง และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีการพิจารณาระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติด้วย โดยวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อพิจารณาหนี้สินในส่วนที่ 2 และ 3 และเรื่องในอนาคตว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ”
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับหนี้สินส่วนแรกนำเรื่องเข้าสภา กทม.เพื่ออนุมัติเงินสะสมจ่ายขาด ก่อนจัดทำเป็นร่างข้อบัญญัติ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ คาดว่าสามารถชำระหนี้ได้เร็วกว่ากรอบระยะเวลาที่คำพิพากษาสั่งให้จ่ายหนี้ภายใน 180 วัน โดยการพิจารณาในครั้งนี้จะมีผลต่อหนี้สินในส่วนที่ 2 และ 3 ด้วย
“ผมเห็นใจทางบีทีเอสนะ เพราะผมก็ขึ้นบีทีเอสทุกวัน เห็นพนักงานที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะเดียวกัน กทม.ในฐานะผู้บริหารต้องทำตามรายละเอียดเกี่ยวข้อง ต้องพยายามเดินไปด้วยกัน หาทางออกร่วมกัน ขอบคุณบีทีเอสที่กรุณาช่วยเดินรถ ซึ่งมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 9 แสนคนต่อวัน ถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญของประชาชนชาวกรุงเทพฯ”
เมื่อถามว่าฝ่ายใดเป็นผู้นัดหารือก่อน นายชัชชาติ กล่าวว่า ทั้ง 2 ทาง เพราะ กทม.ก็อยากคุยอยู่แล้ว จะได้ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าแต่ละคนมีความกังวลด้านไหน ส่วนเรื่องภาระดอกเบี้ยต่อว่า รับว่าอยู่ที่วันละ 2.7 ล้านบาทตามที่ระบุในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
ด้านนายคีรี ระบุ เข้าใจแล้วว่าผู้ว่าฯ เข้าใจเรื่องทั้งหมดเลย เข้าใจความลำบากของเอกชน และพยายามไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งกับ กทม.และทางเอกชน พร้อมขอบคุณที่จะมีการชำระหนี้ให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้นำไปให้บริการและขยายกิจการต่อไป.