สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ว่า สมาคมแรงงานท่าเรือระหว่างประเทศ (ไอแอลเอ) ของสหรัฐ ระบุว่า การหยุดงานครั้งนี้ ถือเป็นการสไตรก์ทั่วชายฝั่งครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี

ความเคลื่อนไหวข้างต้นทำให้การขนส่งที่ท่าเรือ 36 แห่ง เกิดการชะงักงัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่อาหาร ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐ สูญเสียเงินหลายพันล้านสหรัฐต่อสัปดาห์

“เราพร้อมที่จะต่อสู้เป็นเวลานานเท่าที่จำเป็น และหยุดงานประท้วงเป็นระยะเวลานานเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าจ้างและการคุ้มครองจากระบบอัตโนมัติ ที่สมาชิกไอแอลเอ สมควรได้รับ” นายแฮโรลด์ แด็กเกตต์ ประธานของไอแอลเอ ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 85,000 คน กล่าวในแถลงการณ์

FRANCE 24 English

อนึ่ง การสไตรก์ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ยุ่งยากซับซ้อนสำหรับทำเนียบขาว และทีมรณรงค์หาเสียงของนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ และแคนดิเดตพรรคเดโมแครต เนื่องจากทั้งสองฝ่ายพยายามเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่สนับสนุนสหภาพแรงงาน ควบคู่กับการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในช่วงใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. นี้

แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ตัดสินใจไม่ดำเนินการแทรกแซงจากรัฐบาลกลาง แต่กลุ่มล็อบบี้ภาคธุรกิจจะยกระดับการเรียกร้องให้รัฐบาลวอชิงตันดำเนินการ หากการหยุดงานประท้วงยืดเยื้อนานเกินไป

ขณะที่ทำเนียบขาวระบุว่า ไบเดนและแฮร์ริส กำลังติดตามการสไตรก์ครั้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยทั้งสองคนได้รับข้อมูลสรุปเกี่ยวกับการประเมินของรัฐบาล ซึ่งระบุว่า ผลกระทบต่อผู้บริโภคคาดว่าอยู่ในวงจำกัด ในเวลานี้.

เครดิตภาพ : AFP