สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่า ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงปี 2503 และรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ปี 2548 โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากอัตรา 0.58 วัตต์ต่อตารางเมตรในระยะยาว เป็น 1.05 วัตต์ต่อตารางเมตร

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ความร้อนส่วนเกินที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศประมาณร้อยละ 90 ถูกดูดซับไว้ในมหาสมุทร ขณะที่มหาสมุทรซึ่งอุ่นขึ้นก่อให้เกิดพายุ, เฮอริเคน และสภาพอากาศสุดขั้วในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสร้างอิทธิพลต่อสภาพอากาศทั่วโลก และการเกิดฝน

รายงานดังกล่าว ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอุณหภูมิของมหาสมุทรที่ทำลายสถิติ, คลื่นความร้อนของทะเลที่แผ่ขยายลงไปถึงมหาสมุทรลึก, การสูญเสียน้ำแข็งในทะเลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และระดับความร้อนซึ่งถูกกักเก็บไว้ในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น

ในปี 2566 มหาสมุทรมากกว่าร้อยละ 20 ประสบกับคลื่นความร้อนทางทะเลที่รุนแรงมากอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอพยพและการตายของสัตว์ทะเลเป็นจำนวนมาก, สร้างอันตรายต่อระบบนิเวศและรบกวนการไหลของน้ำลึกและน้ำตื่น และสร้างอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของธาตุอาหาร

นายฟอน ชุคมันน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบทบาทของมหาสมุทรต่อภูมิอากาศ เตือนว่า การอุ่นขึ้นของมหาสมุทร สามารถส่งผลกระทบต่อทุกแง่มุมของโลกใต้ทะเล ตั้งแต่ความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงทางเคมี, กระบวนการทางสมุทรศาสตร์, กระแสน้ำ และสภาพอากาศของโลก

ระยะเวลาสูงสุดเฉลี่ยต่อปีของคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2551 จาก 20 วัน เป็น 40 วัน ขณะที่ก้นทะเลแบเร็นตส์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือในอาร์กติก จะเข้าสู่ภาวะคลื่นความร้อนทางทะเลถาวร และเมื่อปี 2566 น้ำแข็งในทะเลมีปริมาณต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในบริเวณขั้วโลก

ในเดือน ส.ค. 2565 อุณหภูมิในน่านน้ำชายฝั่งของหมู่เกาะแบลีแอริก นอกชายฝั่งของสเปน อยู่ที่ 29.2 องศาเซลเซียส ถือเป็นอุณหภูมิที่อุ่นที่สุดในรอบ 40 ปี และในปีเดียวกันนั้น คลื่นความร้อนทางทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สามารถทอดตัวไปถึงความลึกประมาณ 1,500 เมตรใต้ผิวน้ำ

รายงานของโคเปอร์นิคัส ตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นกรดของมหาสมุทรยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งความเป็นกรดเกินเกณฑ์ จะส่งผลให้แร่ธาตุที่สัตว์ทะเลนำมาใช้สร้างโครงกระดูกและเปลือกหอยถูกกัดกร่อน เช่น ในปะการัง, หอยแมลงภู่ และหอยนางรม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สถาบันพ็อทซ์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบต่อสภาพอากาศ (พีไอเค) รายงานว่า “ขีดความปลอดภัยของโลก” ที่นักวิทยาศาสตร์เคยกำหนดไว้ ใกล้จะถูกทำลายในระยะเวลาอันใกล้.

เครดิตภาพ : AFP