สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ว่า นายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ลงนามในหนังสืออย่างเป็นทางการ ซึ่งระบุว่า รัฐแคลิฟอร์เนีย “ยอมรับถึงความรับผิดชอบ” ในการส่งเสริม, อำนวยความสะดวก และอนุญาตให้มีการจัดตั้งระบบทาส ตลอดจนการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ที่กลายเป็นมรดกตกทอดสืบต่อไป

คำแถลงการณ์ครั้งนี้ เป็นคำแนะนำจากคณะทำงานซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังเกิดการเคลื่อนไหว “Black Lives Matter” และการชุมนุมต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ หลังจากการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งเสียชีวิตจากการกระทำเกินกว่าเหตุของตำรวจ เมื่อปี 2563

นักเคลื่อนไหวผิวสียินดีกับคำขอโทษ แต่บางคนเชื่อว่า รัฐควรเสนอค่าชดเชยทางการเงินด้วย “คำขอโทษเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องรวมถึงการชดเชยในรูปแบบวัตถุ” น.ส.คามิลา มัวร์ ทนายความและอดีตประธานคณะทำงาน กล่าวผ่านเอ็กซ์

แม้รัฐแคลิฟอร์เนียจะไม่เคยเข้าร่วมกับฝ่ายใต้ ซึ่งสนับสนุนให้มีการค้าทาส แต่กลับอนุญาตให้รัฐฝ่ายใต้พาทาสเข้ามา ในช่วงตื่นทอง และไล่ล่าทาสที่หลบหนี

หลังสงครามกลางเมืองระหว่างปี 2404-2408 และการเลิกทาสทั่วประเทศ สหรัฐสั่งห้ามการแต่งงานข้ามเชื้อชาตินานหลายทศวรรษ, อดทนต่อกลุ่มคูคลักซ์แคลน หรือกลุ่มเหยียดสีผิวในท้องถิ่น และกำหนดนโยบายที่กีดกัน ไม่ให้คนผิวสีเข้าไปในบางพื้นที่

เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานเฉพาะกิจ ที่เมืองซานฟรานซิสโกของรัฐแคลิฟอร์เนีย แนะนำให้จ่ายค่าชดเชย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 161 ล้านบาท) ให้แก่พลเมืองผิวสีที่เข้าเงื่อนไข ซึ่งนักการเมืองพรรครีพับลิกันตำหนิว่า เป็นแนวคิดที่ “ไร้สาระและไม่อยู่บนหลักความเป็นจริง”

จนถึงขณะนี้ มีประมาณ 12 รัฐในอเมริกา ได้ออกคำขอโทษอย่างเป็นทางการ สำหรับการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าทาส

เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา รัฐนิวยอร์กซึ่งประกาศเลิกทาส เมื่อปี 2370 จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ เพื่อศึกษาสิ่งที่ตกทอดจากการค้าทาส และผลกระทบที่ยังหลงเหลืออยู่ และออกคำแนะนำสำหรับวิธีการแก้ไข ความไม่เท่าเทียมกันที่คงอยู่มาอย่างยาวนาน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES