เมื่อวันที่ 22 ก.ย. จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในแพล้นผลิตสารตั้งต้นผลิตพีวีซีผง บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถนนไอ 1 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง จนมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าดำทะมึนปริมาณมาก หลังเกิดเหตุได้มีการแจ้งสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อแจ้งอพยพประชาชนที่อยู่ในรัศมีควันไฟเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ล่าสุด ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ระบุว่า ไฟไหม้โรงงานพลาสติก และเคมีภัณฑ์ในนิคมมาบตาพุดอย่างรุนแรง อันตรายเป็นสารก่อมะเร็ง

เร่งอพยพปชช.ในรัศมี หลังเพลิงไหม้แพล้นโรงงานพลาสติก นิคมฯ มาบตาพุด!

  1. เวลา 12.25 น.วันที่ 22 ก.ย.67 เกิดไฟไหม้ บริเวณ Plant VCM1 ภายในโรงงานบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด ในพื้นที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง ทำให้เกิดกลุ่มควันสีขาวและสีดำปริมาณมาก กลุ่มควันดังกล่าวพัดไปยังตลาดมาบตาพุด ชุมชนบ้านพลง ชุมชนอิสลาม ควรหลีกเลี่ยงการได้รับควันและไอระเหยดังกล่าวเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง ควรอพยพออกจากโรงงานดังกล่าวอย่างน้อย 3 กม.

2.สาร VCM หรือไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl chloride monomer; Ethylene monochloride; Monochloroethylene) ใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เป็นก๊าซไม่มีสี เป็นก๊าซไวไฟสูงมาก จัดเป็นสารก่อมะเร็ง และเก็บเป็นของเหลวภายใต้ความดัน ไอระเหยของสาร VCM เมื่อรวมตัวกับอากาศในอัตราส่วนที่พอเหมาะจะทำให้เกิดการระเบิดได้โดยปล่อยสารคลอรีนออกมามีอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากหายใจเข้าไปทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง เป็นพิษต่อระบบประสาท เป็นอันตรายต่อระบบหลอดเลือดแดง ผิวหนัง กระดูก ตับ พิษแบบเฉียบพลันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสารในปริมาณความเข้มข้นสูง จะทำให้มีอาการมึนงง วิงเวียน อ่อนเพลีย ง่วงนอน เสียการทรงตัว การได้ยินและการมองเห็นไม่ชัดเจน ถ้าได้รับในปริมาณความเข้มข้นสูงมากจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

…นอกจากนี้ยังเป็นพิษแบบเรื้อรังกล่าวคือหากได้รับไวนิลคลอไรด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการพิษทางระบบประสาท การรับรู้ต่าง ๆ น้อยลง เป็นพิษต่อระบบสืบพันธ์ุและก่อมะเร็งที่ตับ

3.ไวนิลคลอไรด์เป็นก๊าซไม่มีสีที่ถูกติดไฟเผาไหม้ได้ง่ายและระเหยอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะใช้ในการผลิตโพลีไวนิลคลอไรด์หรือ PVC ซึ่งใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายประเภท เช่น ท่อ สายไฟ และวัสดุบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น หากเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ไม่สามารถใช้การสเปรย์น้ำ (water spray) หรือพ่นหมอกน้ำ (water fog) ห้ามฉีดน้ำโดยตรงไปยังถังเก็บสารเคมีดังกล่าว ในการดับเพลิงได้ต้องใช้โฟมดับไฟ หรือคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น