เมื่อวันที่ 22 ก.ย. จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในแพล้นผลิตสารตั้งต้นผลิตพีวีซีผง บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถนนไอ 1 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง จนมีกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าดำทะมึนปริมาณมาก หลังเกิดเหตุได้มีการแจ้งสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพื่อแจ้งอพยพประชาชนที่อยู่ในรัศมีควันไฟเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ล่าสุด ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ระบุว่า ไฟไหม้โรงงานพลาสติก และเคมีภัณฑ์ในนิคมมาบตาพุดอย่างรุนแรง อันตรายเป็นสารก่อมะเร็ง
เร่งอพยพปชช.ในรัศมี หลังเพลิงไหม้แพล้นโรงงานพลาสติก นิคมฯ มาบตาพุด!
- เวลา 12.25 น.วันที่ 22 ก.ย.67 เกิดไฟไหม้ บริเวณ Plant VCM1 ภายในโรงงานบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด ในพื้นที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง ทำให้เกิดกลุ่มควันสีขาวและสีดำปริมาณมาก กลุ่มควันดังกล่าวพัดไปยังตลาดมาบตาพุด ชุมชนบ้านพลง ชุมชนอิสลาม ควรหลีกเลี่ยงการได้รับควันและไอระเหยดังกล่าวเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง ควรอพยพออกจากโรงงานดังกล่าวอย่างน้อย 3 กม.
2.สาร VCM หรือไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ (Vinyl chloride monomer; Ethylene monochloride; Monochloroethylene) ใช้ผลิตเม็ดพลาสติก เป็นก๊าซไม่มีสี เป็นก๊าซไวไฟสูงมาก จัดเป็นสารก่อมะเร็ง และเก็บเป็นของเหลวภายใต้ความดัน ไอระเหยของสาร VCM เมื่อรวมตัวกับอากาศในอัตราส่วนที่พอเหมาะจะทำให้เกิดการระเบิดได้โดยปล่อยสารคลอรีนออกมามีอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากหายใจเข้าไปทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรง เป็นพิษต่อระบบประสาท เป็นอันตรายต่อระบบหลอดเลือดแดง ผิวหนัง กระดูก ตับ พิษแบบเฉียบพลันที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสารในปริมาณความเข้มข้นสูง จะทำให้มีอาการมึนงง วิงเวียน อ่อนเพลีย ง่วงนอน เสียการทรงตัว การได้ยินและการมองเห็นไม่ชัดเจน ถ้าได้รับในปริมาณความเข้มข้นสูงมากจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
…นอกจากนี้ยังเป็นพิษแบบเรื้อรังกล่าวคือหากได้รับไวนิลคลอไรด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการพิษทางระบบประสาท การรับรู้ต่าง ๆ น้อยลง เป็นพิษต่อระบบสืบพันธ์ุและก่อมะเร็งที่ตับ
3.ไวนิลคลอไรด์เป็นก๊าซไม่มีสีที่ถูกติดไฟเผาไหม้ได้ง่ายและระเหยอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะใช้ในการผลิตโพลีไวนิลคลอไรด์หรือ PVC ซึ่งใช้ทำผลิตภัณฑ์พลาสติกหลากหลายประเภท เช่น ท่อ สายไฟ และวัสดุบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น หากเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ไม่สามารถใช้การสเปรย์น้ำ (water spray) หรือพ่นหมอกน้ำ (water fog) ห้ามฉีดน้ำโดยตรงไปยังถังเก็บสารเคมีดังกล่าว ในการดับเพลิงได้ต้องใช้โฟมดับไฟ หรือคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น