รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ว่า การประเมินผลเบื้องต้น การให้บริการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BRT-EV) สายสาทร-ราชพฤกษ์ ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร (กม.) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 67 มีปัญหาขลุกขลักในการให้บริการบ้าง โดยเฉพาะวันทำการ มีผู้โดยสารจำนวนมาก ทำให้เกิดความแออัดภายในรถโดยสาร และสถานี นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนเข้ามามากว่ารอรถนาน บริษัทฯ พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาปรับปรุงบริการมีประสิทธิภาพมากที่สุด และผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง
ขณะนี้ได้ปรับเพิ่มความถี่ปล่อยรถชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งเช้าและเย็นให้เร็วขึ้นแล้ว จากเดิมประมาณ 12 นาที เป็น 10 นาที เพื่อลดความหนาแน่น และลดเวลารอคอย ส่วนจะเพิ่มความถี่ให้เร็วขึ้นอีกหรือไม่นั้น ขอประเมินจำนวนผู้โดยสารอีกครั้ง ปัจจุบันให้บริการ BRT-EV วันละ 23 คัน ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. แบบไม่เก็บค่าโดยสาร (ฟรี) จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 หรือประมาณ 2 เดือน ส่วนจะขยายเวลาไม่เก็บค่าโดยสารอีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัทฯ เป็นผู้รับจ้างเดินรถเท่านั้น สำหรับปัญหาเรื่องรถพื้นชานต่ำ ขณะที่สถานีชานชาลาสูงนั้น ได้แก้ปัญหาด้วยการทำทางลงให้ผู้โดยสารเดินมาขึ้นรถที่ทางเท้า เนื่องจากรถใหม่ที่นำมาให้บริการเป็นพื้นชานต่ำ ซึ่ง กทม. มีแผนขยายเดินรถออกไปวิ่งนอกเส้นทาง BRT เดิมด้วย จึงจำเป็นต้องเป็นรถพื้นชานต่ำ และรถมีประตู 2 ด้าน สามารถนำไปวิ่งให้บริการร่วมกับป้ายรถเมล์ทั่วไปได้ โดยปัจจุบันรถเมล์ BRT จะเปิดประตูฝั่งขวา แต่หากเป็นป้ายรถเมล์ทั่วไป จะเปิดประตูฝั่งซ้าย แผนการขยายการเดินรถเส้นทางต่างๆ ในอนาคต อยู่ในกระบวนการขออนุมัติเปิดเส้นทางเพิ่มเติม
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า เบื้องต้น กทม. จะเริ่มเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 ส่วนเส้นทางที่จะขยายการเดินรถเพิ่มเติม อาทิ จากสถานีสาทร ถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี และในอนาคตมีแผนขยายเดินรถจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินีไปถนนวิทยุถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สุขุมวิท) สถานีเพลินจิต เป็นต้น ขณะนี้มีผู้ใช้บริการประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน รองรับผู้โดยสารต่อเที่ยวได้มากขึ้น เนื่องจากขนาดใหญ่ขึ้น มีที่นั่งประมาณ 30 ที่นั่ง มีทางลาดสำหรับรถเข็นผู้พิการ มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวี มีระบบ GPS มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และประตูทางออกฉุกเฉิน
BRT-EV โฉมใหม่ให้บริการเวลา 06.00-22.00 น. เพิ่มจุดรับส่งใหม่ 2 สถานีคือ สถานีถนนจันทน์เหนือ (บริเวณแยกจันทน์-นราธิวาส) และสถานีถนนจันทน์ใต้ (บริเวณแยกรัชดา-นราธิวาส) ทำให้สถานีของรถโดยสาร BRT เพิ่มขึ้นเป็น 14 สถานี คือ สถานี B1 : สาทร (เชื่อมสถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี) สถานี B2 : อาคารสงเคราะห์ สถานี B3 : เทคนิคกรุงเทพ สถานี B3A : ถนนจันทน์เหนือ (สถานีใหม่) สถานี B4 : ถนนจันทน์ สถานี B4A : ถนนจันทน์ใต้ (สถานีใหม่) สถานี B5 : นราราม 3 สถานี B6 : วัดด่าน สถานี B7 : วัดปริวาส สถานี B8 : วัดดอกไม้ สถานี B9 : สะพานพระราม 9 สถานี B10 : เจริญราษฎร์ สถานี B11 : สะพานพระราม 3 และ สถานี B12 : ราชพฤกษ์ (เชื่อมสถานีรถไฟฟ้า BTS ตลาดพลู)