เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบและเปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ โดยมี นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) นายชนะ สุ่มมาตย์ รักษาการที่ปรึกษาด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาส สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายศักดา เกาทัณฑ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและหุ้นส่วนสอบบัญชี KPMG ประเทศไทย นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ นายกสมาคมจดหมายเหตุไทย นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี นางแสงจันทร์ ระวังกิจ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู คณะนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ดร.ภิรญา กาลพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ พร้อมด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการมูลนิธิโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ คณะครู ผู้ปกครอง ภาคีเครือข่าย นักเรียน และสื่อมวลชน กว่า 500 คน ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกิจกรรมอันมีคุณค่าในการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ผู้เป็นอนาคตของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนของโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นเด็กพิเศษที่พวกเราทุกคนต้องร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ เพื่อจะได้เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีความสุขของประเทศชาติ ด้วยพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย KPMG ประเทศไทย และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยมีบุคคลผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างสรรค์สถานที่เพื่อพัฒนาคนในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ สติปัญญา การเข้าสังคม และวินัย ผ่านการเล่น นั่นคือ “อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ซึ่งได้น้อมนำพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ในด้านการเลี้ยงดูพระโอรส และพระธิดา กระทั่งเจริญวัยเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินโดยธรรม ซึ่งตนได้มีโอกาสขอความช่วยเหลือจากท่าน ผ่านการประสานงานของอาจารย์บังอร บัวเมือง รองประธานและเหรัญญิก มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาอย่างยาวนานตั้งแต่ตนดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท คนที่ 52 ในปี 2557 และการได้พบกันในครั้งนี้ ทำให้ตนได้รู้จัก “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” จนทำให้เกิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแห่งแรกของจังหวัดชัยนาทที่อำเภอสรรพยา บริเวณใต้ต้นจามจุรี ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และเกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ตราบถึงปัจจุบัน และด้วยบุญพาวาสนาส่ง ทำให้การได้ร่วมสร้างสิ่งดี ๆ กับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในครั้งนั้น นำมาซึ่งการเป็นแนวทางให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้นำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ในโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทั่วประเทศ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ที่นอกจากจะสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่แล้ว ยังเป็นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้วัสดุในพื้นที่ และยังใช้กำลังแรงงาน ความร่วมแรง ร่วมใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร่วมกันก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งยังช่วยกันดูแลรักษา บำรุง ซ่อมแซม จนเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างปัญญา สร้างโอกาส สร้างองค์ความรู้ สร้างมิตรภาพ สร้างความรักของคนในครอบครัวและชุมชน ของเด็ก ๆ และประชาชนทุกช่วงวัย ในพื้นที่ตำบลโก่งธนู จนถึงทุกวันนี้

“สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่เรียกได้ว่า “ยาวิเศษ” ในการพัฒนาเด็กทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย เกิดประโยชน์ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ด้านพัฒนาอารมณ์ ผ่านความเพลิดเพลินสนุกสนาน ทำให้เด็กอารมณ์ดี ส่งผลต่อการพัฒนาด้านจิตใจ เพราะร่างกายแข็งแรง อารมณ์ก็ดีก็จะทำให้จิตใจดีตามไปด้วย และยังเป็นการพัฒนาด้านสังคม สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่ ระหว่างครูกับเด็ก ระหว่างเด็กกับเพื่อน ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง และที่สำคัญ ยังทำให้เด็กมีวินัย เพราะเครื่องเล่นมีจำกัด ทำให้เขารู้ว่าจะต้องรอคิว ก็ต้องรู้จักบริหารจัดการพื้นที่ที่มีจำกัดเพื่อแบ่งปันให้เกิดการเล่น และจากการติดตามลงพื้นที่ในทั่วประเทศพบว่า พอเด็กได้เล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาก็ไม่อยากเลิก เพราะทำให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้น มีความสนุกสนาน ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พาลูกหลานมาเล่น ก็ได้เล่นไปกับลูกหลานด้วย ทำให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน แล้วยังทำให้ครอบครัวต่าง ๆ มาพบหน้ากัน เป็นพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน/หมู่บ้าน ที่ใคร ๆ ที่พาลูกหลานมาเล่น ก็จะต้องได้พบปะ พูดคุย สนทนา สร้างความครื้นเครง สร้างความสามัคคีในพื้นที่อีกด้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หลักการของการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่ คือ ผู้ปกครองมีส่วนร่วม เพราะในสังคมต่างจังหวัด เครื่องไม้ เครื่องมือ ทรัพยากรต่าง ๆ จะหาง่าย ในแต่ละบ้านจะมีเศษไม้ มีเชือก มีช่างแรงงานฝีมือ ทั้งช่างไม้ ช่างปูน โดยตลอดห้วง 5-6 ปีที่เราขับเคลื่อน ได้รับความสนใจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก อย่างที่จังหวัดร้อยเอ็ด เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ได้ส่งเสริมให้มีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาใจกลางเมือง มีกิจกรรมลงแขกเอามื้อสามัคคีช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง อย่างสระทารก ที่เมื่อเด็กลงไปเล่นแล้วจะเลอะเปรอะเปื้อนเหมือนลงในหนองในโคลน ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน มีแต่เสียงหัวเราะ ความร่าเริง ความสนุกสนาน ผู้ใหญ่เห็นเด็กมีความสุข ผู้ใหญ่ก็มีความสุข สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาทำให้เห็นแววตาที่สดชื่นสดใส รอยยิ้มที่เปรมปรีดาของทั้งผู้ปกครองและลูกหลาน ในทุกพื้นที่” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ เพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนแนวทางพัฒนาสนามเด็กเล่นใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ และ 7,849 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็น “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” เป็นความท้าทายที่สำคัญของข้าราชการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ภายใต้การนำของ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้นำแนวทางและรูปแบบการดำเนินการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ขยายผลไปยังทุกโรงเรียนของทุกสังกัด ในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด รวมทั้งกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พัฒนาพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ทั้งสวนสาธารณะ และลานกิจกรรม ลานสันทนาการต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชน ด้วยการจัดทำ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ตามแนวทางและวิธีการรูปแบบที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เคยแจ้งแนวทางไปก่อนแล้ว อันจะทำให้เกิดประโยชน์กับเด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนทุกช่วงวัยได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะ “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้อะไรมากกว่าสิ่งที่เราเห็นด้วยตา เพราะสัมผัสได้ด้วย “ใจ”” นั่นคือ ความสุขใจของผู้ปกครองที่บ้าน เฉกเช่น สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆแห่งนี้ ทำให้ผู้ปกครองได้มีความสุขจากการเห็นลูกได้เล่น จนกระทั่งร่างกายที่เคยไม่สมบูรณ์กลับมาสมบูรณ์เพิ่มขึ้น จนเด็กบางคนจากต้องกินยาที่เป็นสารเคมีเพื่อรักษาอาการป่วย แต่สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแห่งนี้เอง ทำให้คุณหมอถึงขั้นสั่งให้ไม่ต้องรับประทานยาอีก เพราะร่างกาย สมอง ได้รับการพัฒนาจากพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์แห่งนี้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยหนุนเสริมและทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการมีภาคีเครือข่ายที่ดี มีผู้บริหารโรงเรียนที่ดี มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่ดี และมีวิธีการที่ดีในการทำให้ลูกหลานของเราได้มีความสุขในการเรียนรู้ เพื่อเติบโตไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมั่นคง

“ขอบคุณสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลที่ได้สนับสนุนให้นักกีฬาทีมชาติไทย มาร่วมสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับน้อง ๆ ในวันนี้ และขอบคุณมวลมิตรผู้มีความรักความปรารถนาดี ภาคีเครือข่ายทุกส่วน ที่ได้มาร่วมกันแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจในการสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และทำให้เกิดสังคมแห่งการให้ สังคมแห่งการทำจิตอาสา ดังพระราชดำริ “จิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” อันมีเป้าหมายคือ “ประเทศชาติมั่นคงประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน”” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

ด้าน ดร.ภิรญา กาลพัฒน์ กล่าวว่า ตนมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ในปีการศึกษา 2566 ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงที่นี่ ได้พาคณะผู้บริหารสำรวจพื้นที่ทั้งโรงเรียน พบมีแต่สนามเด็กเล่นในห้องเรียนต่าง ๆ ซึ่งเด็กได้เล่นในห้องเรียนแคบๆ ตนจึงนำความรู้สึกที่อยากมีสนามเด็กเล่นกลางแจ้ง แต่ยังขาดงบประมาณ จึงเขียนโครงการและได้รับการสนับสนุนจาก KMPG ประเทศไทย 300,000 บาท เป็นทุนตั้งต้น ทำให้มีพลังใจที่จะคิดสร้างสนามเด็กเล่นกลางแจ้งให้กับเด็กๆ โดยคิดว่าไม่ควรซื้อเครื่องเล่น และได้ค้นหารูปแบบกระทั่งไปเจอร้าน INN TRAIN เขตประเวศ มีภาพสนามเด็กเล่นแบบนี้เยอะเลย จึงโทรศัพท์ไปสอบถามถึงที่มาของภาพสนามเด็กเล่นลักษณะนี้ และทางเจ้าของร้านได้นัดหมายและพาไปพบคนออกแบบนั่นคือ “อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” โดยท่านได้พาคณะมาลงพื้นที่โรงเรียน พร้อมร่วมกันออกแบบและเริ่มสร้างในวันที่ 8 มกราคม 2567 ซึ่งระหว่างการสร้างมีการปรับแบบอยู่ตลอดเวลา เพราะในช่วงที่สร้างจะมีลูก ๆ เด็กนักเรียนมาสอบถามว่า มาทำอะไรให้เขา เด็กมีความสนใจ ทำให้ท่านใจละลาย ขยายแบบจาก 700,000 บาท เป็น 3.6 ล้านบาท เพราะอาจารย์ดิสสกรตั้งใจออกแบบให้เหมาะสมกับความพิการของเด็กโรงเรียนทุ่งมหาเมฆให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

“ขอขอบคุณท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และ KPMG ประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนการสร้าง “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ” จนประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์กับลูก ๆ นักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษให้ได้รับการพัฒนาทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้ โรงเรียนฯ มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนพิเศษตามภารกิจในด้านการพัฒนานักเรียนพิการบกพร่องทางการได้ยิน ทางสติปัญญา และออทิสติก เพราะสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาทำให้เขามีความกล้ามากขึ้น ให้เด็กเรียนดี มีความสุข โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเริ่มต้นจาก KPMG จำนวน 300,000 บาท และอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้การอนุเคราะห์ออกแบบพัฒนาและสนับสนุนงบประมาณ 3,300,000 บาท มี 17 ฐานกิจกรรม ได้แก่ 1. นิทรรศการประวัติความเป็นมาสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา 2. ม่านน้ำตก 3. บอร์ดความรู้ทั่วไป 4. ชกมวย 5. ชิงช้า 6. ม้าพยศ 7. ปีนเขา 8. สไลเดอร์ 9. สไปเดอร์แมน 10. ทราย 11. ภูเขายักษ์เขียว 12. ทรงตัวยางรถยนต์, ไม้ 13. ชักรอก 14. สระทารก, สระน้ำ, ลานหิน 15. สุริยันจันทรา 16. ธนาคารน้ำใต้ดิน และ 17. ขยะเปียก ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 เดือนนี้ เราได้สร้างความรู้ให้กับผู้เกี่ยวข้อง ให้รู้จักแนะนำดูแลเด็กได้ใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาอย่างรู้คุณค่า ทั้งคุณครูและบุคลากรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อร่วมพัฒนานักเรียน และเราจะช่วยกันดูแลส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป” ดร.ภิรญา กล่าวเพิ่มเติม