เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี โดยนายภัทรพงศ์ ระบุว่า อาจมีการทุจริตการเลือกตั้ง ขอให้กกต.ระงับการรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าวไว้ก่อน สืบเนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่ส่งหลักฐานเป็นซองเงินที่อ้างว่าได้รับมาจากหัวคะแนน พร้อมส่งข้อความรายละเอียด บอกว่า “เบอร์ 2 คนละ 200 ส่วนใหญ่คนที่เดินก็เป็นกำนัน ผู้ใหญ่ ให้คนรู้จักเดินซองอีกที” นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานเป็นข้อความที่พลเมืองดีส่งมาให้ข้อมูล เช่น “ผมคนราชบุรี รับมาแล้ว 200 บาท”
นายภัทรพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรีครั้งที่ผ่านมาเป็นที่กล่าวขานหลายมิติ บอกกันว่าการเลือกตั้งอาจไม่สุจริตเที่ยงธรรม โดยกลไกผู้นำหมู่บ้านอย่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. มาเป็นหัวคะแนนนำเงินไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน และมีการเปิดเผยหลังการเลือกตั้งผ่านสังคมออนไลน์ แต่น่าแปลกใจที่ ประธานและเลขาธิการ กกต. บอกว่าไม่มีการทุจริต ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ตัวเองก็เคยได้รับหลักฐานจากประชาชนส่งมาผ่านช่องทางออนไลน์ บอกว่าได้รับเงิน 200-300 บาท พร้อมแนบหลักฐานเป็นรูปซองเงินมาให้ด้วย และยังมีหลักฐานที่ตัวเองได้มา คือ ภาพการนับคะแนนในหน่วยเลือกตั้งซึ่งหากดูจากสายตาจะเห็นว่าเบอร์ 1 พรรคประชาชนคะแนนนำอยู่สองคะแนนแต่ท้ายที่สุดเมื่อนับคะแนนเสร็จกลับลงให้เบอร์ 2 ชนะคะแนนสี่แต้ม ส่วนตัวเชื่อว่าพรรคประชาชน คือ ผู้เสียหาย เนื่องจากส่งผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งและขณะนี้ก็น่าจะกำลังรวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากโซเชียลฯ กล้องวงจรปิดที่มีคนนำมาเปิดเผยว่า มีหัวคะแนนไปแจกเงินให้ถึงบ้านของประชาชน
เรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้ลงสมัครจากพรรคประชาชน ที่คะแนนรองลงมาจากอันดับหนึ่ง แต่ตนอยากให้ กกต.ได้มีการประกาศระงับตำแหน่งนายก อบจ.ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เช่น กรณีของลุงชาญ อบจ.ปทุมธานี ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไว้ แต่กรณีของ อบจ.ราชบุรีนั้น ตอนนี้มีคนยื่นฟ้องร้องแล้วและทางศาลทุจริตได้ประทับรับฟ้อง ซึ่งเรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป ตนหวังว่า ทาง กกต.จะไม่จบที่ใบเหลืองหรือใบแดง ทางออกของ กกต. ในเรื่องนี้คือการให้ใบเหลืองและประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวก็ไม่เชื่อมั่นว่า กกต. จะมีการตรวจสอบเอาผิดเรื่องนี้ได้ จึงมีแผนสอง คือไปยื่นเรื่องกับกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะก่อนหน้านี้ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือ กำนันตุ้ย เคยมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ และขณะนี้อยู่ในชั้น ป.ป.ช. ซึ่งตามบันทึกกฤษฎีกาผู้นำท้องถิ่นที่มีเรื่องร้องเรียนจะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจใดๆ ได้
ต่อข้อถามกรณีโซเชียลฯ บอกว่าพรรคประชาชนเองก็มีการซื้อเสียงเหมือนกัน นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าพรรคประชาชนซื้อเสียงไร้สาระมาก มองว่าเป็นไปไม่ได้เด็ดขาดในฐานะที่ตนเคยร่วมงานกับพรรคสีส้มเวอร์ชั่นแรก ก็คือพรรคอนาคตใหม่ จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อ ไม่ซื้อหรอก ต้องถามว่าเอาเงินมาจากที่ไหน ตัวผู้สมัครเองก็ไม่ใช่คนร่ำรวยหรือทายาทของพวกบ้านใหญ่ ถามว่าจะเอาเงินจากใคร นายธนาธรหรือ ซึ่งเขาว่ากันว่านายธนาธรขี้เหนียวจะตาย จึงมองว่าไม่มีทางที่พรรคประชาชนจะซื้อเสียง
เมื่อถามอีกทราบว่าผู้สมัครก็ไม่ธรรมดาเป็นนักธุรกิจนั้น นายภัทรพงศ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบแต่โดยประเพณีปฏิบัติพื้นฐานของพรรคส้มตั้งแต่เวอร์ชั่น 1-3 เขาไม่มีเรื่องพวกนั้น แต่ตนไม่รู้ว่าตัวผู้สมัครเป็นใครอะไร แต่ถ้าเขาจะแอบไปซื้อเสียงและหากมีหลักฐานก็ให้เอามา อย่างไรก็ตาม แม้ผู้สมัครเบอร์ 1 จะไม่ได้ชนะเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณไปซื้อเสียงก็ผิด ก็จะได้รับโทษ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะไม่มีมูลความจริง เป็นแค่ Fake News เท่านั้น.