องค์กรหลายแห่ง แม้จะมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ความยั่งยืนแล้ว แต่การขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงยังคงเป็นปัญหาที่ยังต้องหาวิธีขับเคลื่อนให้ได้

ที่นิด้า ท่านอธิการ รองอธิการ และผู้บริหารเอาจริงเอาจังต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ SDG ทั้ง 17 ข้อ ผู้บริหารมีความคิดว่า ต้องปลูกฝัง “Sustainable DNA” ให้พนักงานทุกคน ให้ทุกหน่วยงานเข้าใจ และพัฒนาโครงการในฝ่ายของตน ลองหาปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา พัฒนาออกมาเป็นโครงการนวัตกรรม แล้วถอดเป็นองค์ความรู้ KM มาแข่งขันกัน วิธีนี้จะทำให้เกิด “การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งเกิดจากงานในภารกิจหลัก ไม่ใช่งานเพิ่มงานฝาก คล้าย ๆ กับ CSR In Process ของภาคธุรกิจ

ผมได้รับเชิญมาเป็น กรรมการตัดสินผลงานนวัตกรรมความยั่งยืน ปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว เห็นความต่อเนื่อง และความก้าวหน้าของโครงการนวัตกรรม ในหน่วยงานต่าง ๆ หลายโครงการเป็นโครงการต่อยอดจากนวัตกรรมของปีที่แล้ว และหลายโครงการเป็นโครงการใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน

ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน และ SDG 17 ข้อ ไม่ง่ายนัก แต่การพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ให้ฟังบ่อย ๆ  ให้ลงมือทำบ่อย ๆ ทำถูกบ้าง ทำผิดบ้าง มีที่ปรึกษาคอยแนะนำ ร่วมแก้ไขพัฒนากันไป พอทำไปบ่อย ๆ ก็จะเข้าใจมากขึ้น พอเข้าใจมากขึ้นก็พัฒนาโครงการได้ดีขึ้น ปีที่สองนี้หลายหน่วยงานเข้าใจความยั่งยืนชัดเจนขึ้นมาก นี่เป็นตัวอย่างโครงการพัฒนาบุคลากร พัฒนาทุนมนุษย์ด้านความยั่งยืนที่ดีมากยิ่งหลายหน่วยงานเป็นโครงการของอาจารย์ก็จะขยายผลไปสู่การเรียนการสอน มีผลสู่นักศึกษา งานวิจัยที่มีผล   กระทบต่อสังคม และงานบริการวิชาการที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง

และสิ่งหนึ่งที่เป็นผลตามมาคือ KM ในงานความยั่งยืนต่าง ๆ ของทุกหน่วยงานทั่วมหาวิทยาลัย น่าจะส่งผลดีให้ Score ด้านความยั่งยืนสูงขึ้น และมี Ranking ที่ดีขึ้นอีกในปีต่อไป

การปลูกฝัง Sustainable DNA ให้บุคลากรทุกคนในองค์กร คือปัจจัยสำคัญขององค์กรยั่งยืน.