มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ศูนย์วิจัยบูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ จัดทำแปลงสาธิตการผลิตทุเรียนเชิงพาณิชย์แห่งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งพัฒนาระบบการผลิต ร่วมกับ บริษัท คิว แม็กซ์ อะโกรเทค จำกัด กำเนิดเป็น “ทุเรียนหมอนทองล้านนาแม่เหียะ (หมอนแม่เหียะ) 2 ผลแรก” จากการทดลองปลูกในปี พ.ศ. 2562 – 2563 มีลักษณะเนื้อแห้งหนา เมล็ดลีบ รสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ต่อยอดการยกระดับทุเรียนภาคเหนือ เป็นสินค้าเกษตรพรีเมียมที่มีคุณภาพ มาตรฐานในระดับสากล สามารถสร้างรายได้จากการผลิตที่หล่อเลี้ยงกิจกรรมการผลิตของแปลงทุเรียนได้อยู่มีประสิทธิภาพ
ศูนย์วิจัยบูรณาการ สาธิต และฝึกอบรมนวัตกรรมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ จัดทำแปลงสาธิต ในพื้นที่เป็นแปลงทุเรียนเชิงพาณิชย์ที่อยู่ในสถานศึกษาในภาคเหนือแห่งแรก บนพื้นที่ปลูก 20 ไร่ มีทุเรียนจำนวน 403 ต้น แบ่งเป็น ทุเรียนทำดอก อายุ 4-5 ปี 256 ต้น และต้นทุเรียนอายุ 1 ปี 147 ต้น โดยทุเรียนที่ให้ผลผลิตพร้อมตัด จำนวน 3 ลูก ได้จากต้นทุเรียนที่ปลูกทดสอบในเฟส 2 เริ่มปลูกวันที่ 12 มิ.ย. 2563 ต้นทุเรียนมีอายุ 4 ปี 2 เดือน มีการออกดอกตามธรรมชาติ วันที่ 29 ม.ค. 2567 (ทุเรียนที่ปลูกในภาคเหนือจะออกดอกช่วงฤดูหนาว และเก็บเกี่ยวในฤดูฝน) การตัดทุเรียนล่าสุดในวันที่ 27 ก.ค. 2567 เป็นทุเรียนที่อายุผลทุเรียน 130 วัน คุณภาพเกรดส่งออก มาตรฐาน GAP น้ำหนักต่อลูก เฉลี่ย 4-5 กก.
จากการศึกษาวิจัย โดยระบบ smart farm IOT ที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล รวมไปถึงการจัดการแปลง พบว่าจากผลผลิตปีแรกของต้นทุเรียน หรือที่เรียกกันว่า ทุเรียนแม่สาว ซึ่งมีอายุ 4 ปี เท่านั้น จึงทำให้ร้อยละการติดผลผลิตน้อย แต่ต้นทุเรียนมีการเจริญเติบโตได้ดี แม้จะช้ากว่าทุเรียนทางภาคตะวันออกและภาคใต้ กิ่งก้านมีขนาดเล็กกว่า การออกดอกในปีแรกดอกจะร่วงไปเป็นจำนวนมาก มีการประเมิณทดสอบสายพันธุ์ทุเรียนภายในแปลงเพื่อเป็นข้อมูลเปลี่ยนเทียบการเจริญเติบโตโดยรวมของทุเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยลักษณะของผลผลิตโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ส่งออก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรูปทรง น้ำหนัก สีของเนื้อทุเรียน เนื่องจากความพร้อมโดยรวมของต้นทุเรียน และอายุ จะต้องมีการวางแผนในการสะสมอาหาร การบำรุงรักษาต้นทุเรียนให้สมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ผลผลิตรอบของปี 2568 ต่อไป
ทั้งนี้ ผลการวิจัยเป็นการพัฒนาในสถานที่ฝึกปฏิบัติ เรียนรู้ และทำวิจัยของนักศึกษา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ นักวิจัย อาจารย์ เพื่อพัฒนาแนวทางวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพการผลิต รวมถึงการสร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนภาคเหนือ เพื่อเป็นศูนย์การศึกษาแปลงสาธิตระบบการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งต่อยอดในกี่ยกระดับทุเรียนภาคเหนือ สามารถสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรพรีเมียม ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล สามารถสร้างรายได้จากการผลิตที่หล่อเลี้ยงกิจกรรมการผลิตของแปลงทุเรียนได้อยู่มีประสิทธิภาพ