เมื่อวันที่ 25 ส.ค.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง รอยต่อรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,131 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงความสุขต่อเงินในกระเป๋าวันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.6 มีความสุขค่อนข้างน้อย ถึงไม่มีเลย เมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋า วันนี้ ในขณะที่ ร้อยละ 36.4 มีความสุขค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด และเมื่อสอบถามความคาดหวังของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ที่จะทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.4 ไม่คาดหวัง ในขณะที่ ร้อยละ 44.6 คาดหวัง
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามความพอใจของประชาชนต่อ ผลงานรัฐบาลเก่า ก่อนเข้า ยุครัฐบาลใหม่ พบว่าผลงานอันดับแรกของรัฐบาลเก่า ได้แก่ ซอฟต์พาวเวอร์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 46.5 ผลงานอันดับสอง ได้แก่ การจัดระเบียบสังคม นำโดย กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 42.8 ผลงานอันดับสาม ได้แก่ การคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ยุครัฐบาล ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 33.7 ผลงานอันดับสี่ ได้แก่ การศึกษา ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล กระทรวงศึกษา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ร้อยละ 32.8 และผลงานอันดับห้า ได้แก่ การศึกษามหาวิทยาลัยทันยุคสมัย ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กระทรวงการอุดมศึกษา นางสาว ศุภมาส อิศรภักดี ร้อยละ 26.7
ที่น่าเป็นห่วง คือ ความกังวลของประชาชนต่อความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.4 กังวล ในขณะที่ร้อยละ 35.6 ไม่กังวล
รายงานของซูเปอร์โพล ชี้ให้เห็นข้อมูลสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะความคาดหวังและความพึงพอใจต่อรัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลใหม่ การมองหาความคิดเห็นของประชาชนจากทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศและการใช้ทั้งวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพช่วยให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมสาระสำคัญ โดยพบว่า ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่สูงถึงร้อยละ 64.4 สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงในแวดวงการเมืองที่อาจมีผลต่อเสถียรภาพในระยะยาวของประเทศ ความไม่มั่นใจในการจัดการประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลและการลงทุนจากภายนอก
รายงานของซูเปอร์โพลยังระบุด้วยว่า ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมาที่ถูกประชาชนให้คะแนนสูงเช่นการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยซอฟต์พาวเวอร์และการ จัดระเบียบสังคมของกระทรวงมหาดไทยรวมถึงการพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการเห็นการปฏิรูปในหลายด้านที่มีผลต่อชีวิตประจำวันของประชาชน
โดยการวิเคราะห์ผลการสำรวจเหล่านี้สามารถช่วยให้รัฐบาลใหม่มีข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายและโปรแกรมที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางการเมืองในระยะยาว
ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล
1. เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกไม่มีความสุขกับเงินในกระเป๋า รัฐบาลควรจัดทำและประกาศนโยบายที่ชัดเจนเพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เช่น การลดภาษีหรือการสนับสนุนต้นทุนการผลิต และการทำให้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เกิดผลสำเร็จ ขยายวงกว้างต่อเนื่อง
2. เพิ่มความโปร่งใสและรับฟังความเห็น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในรัฐบาลและลดความกังวลทางการเมือง ควรมีช่องทางสำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเสรี
3. ส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาทักษะ รัฐบาลควรสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและ ปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการแข่งขันและเตรียมพร้อมสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต
4. จัดการกับความขัดแย้งทางการเมือง จำเป็นต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนในการจัดการกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยอาจรวมถึงการส่งเสริมการเจรจาและสันติภาพผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การดำเนินการตามข้อเสนอแนะเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับรัฐบาลและสังคมไทย พร้อมทั้งเพิ่มความพึงพอใจและลดความกังวลในหมู่ประชาชน