เมื่อวันที่ 24 ส.ค.67 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาค กล่าวถึงสถานการณ์ของค่าเงินบาทว่า มีคนเขียนว่าตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อดอลลาร์อ่อนตัว ส่งผลให้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าต่ำกว่า 34 บาททันที ผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ได้แก่ ผู้นำเข้าสินค้าและบริการจะถูกลง , นักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายต่างประเทศน้อยลง , ผู้มีหนี้ต่างประเทศ ภาระลดลง , และนักลงทุนในต่างแดนจะได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำลง
แต่ผู้เสียประโยชน์รวมถึงผู้ส่งออกที่ยอดขายอาจลดลงเนื่องจากราคาสินค้าสูงขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาน้อยลง และผู้ที่รับเงินจากต่างประเทศที่รายได้จะลดลงเมื่อแปลงเป็นเงินบาท
โดยรวมแล้ว ผลของเงินบาทแข็งค่านั้นส่งผลทั้งดีและร้าย ขึ้นอยู่กับมุมมองและการเตรียมตัวรับมือของแต่ละกลุ่ม 1.การคิดแบบข้างบนคือคิดแบบ statics แบบเฉพาะหน้าว่าใครได้อะไรใครเสียอะไร จากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ไม่ถูกต้องนะครับ
2.เรื่องค่าเงินบาทแข็งขึ้น ควรคิดแบบ dynamics คือรายได้ส่งออกและท่องเที่ยว (เป็น 65% ของ GDP) จะลดลง มีผลให้รายได้ของประเทศโดยรวมลดลง จึงมาลดกำลังการผลิต (Capacity utilization) ของประเทศ ทำให้ความเจริญของประเทศ (GDP growth) ลดลง ประชาชนโดยรวมจึงยากจนลง 3.แม้สินค้านำเข้าในรูปเงินบาทจะราคาถูกลง คือรายจ่ายลดลง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ จะไม่มีความสามารถจ่าย เพราะรายได้ของพวกเขาลดลง
4.เราบริหารประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้มากๆ สินค้านำเข้าแพงขึ้นหน่อยก็มีปัญญาซื้อ เราไม่ได้บริหารประเทศ เพื่อให้ของนำเข้ามีราคาถูกๆ เพราะของนำเข้าถูกลงจะมีประโยชน์อะไร เมื่อไม่มีปัญญาซื้อเพราะรายได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศลดลง ครอบครัวประเทศไทยยากจนลง (เป็นเหมือนประเทศสังคมนิยมสมัยก่อนๆ เช่น จีน เมียนมา เกาหลีเหนือ)
จากตารางนี้ ในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งมากเกินไปจริงๆ กว่า 50-60% เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน วันนี้เงินบาทแข็งกว่าค่าเงินจีน, ฮ่องกง, สหรัฐฯ หากไม่แก้ไข ประเทศจะเติบโตยาก ประชาชนจะยากจนทั้งประเทศ และประชาชนจะเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นมากมาย ราคาน้ำมันและสินค้านำเข้าอาจถูกลงหน่อย แต่ไม่มีปัญญาซื้อ
แต่ถ้าค่าเงินบาทอ่อนลงหน่อย แข่งขันได้ รายได้ประเทศ และรายได้ประชาชนจะเพิ่มขึ้นมาก ส่วนของนำเข้าแม้แพงขึ้นหน่อย ก็มีปัญญาซื้อ “เราบริหารประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากๆ ไม่ใช่เพื่อให้ของนำเข้ามีราคาถูก”