ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรุ่งนี้ (23 ส.ค. 2567) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย จะเข้าหารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันที่ อาคารชินวัตร โดยเวลา 10.00 น. จะเป็นการหารือระหว่าง ประธานหอการค้าไทย และคณะกรรมการฯ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ขอเข้าพบกับนางสาวแพทองธาร เพื่อร่วมนำเสนอแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดย ส.อ.ท. พร้อมคณะกรรมการบริหาร จะเริ่มหารือในเวลา 11.00 น.
สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเร่งด่วน ซึ่ง ส.อ.ท. ได้เน้นย้ำเสมอและไม่เปลี่ยนจากเดิม คือ
1.นโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยหลัก ๆ มาจากต้นทุนที่สูงขึ้นในทุกอย่าง ทั้งวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ค่าไฟและน้ำมัน รวมถึงค่าแรงที่กำลังจะปรับขึ้น 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ต.ค. 2567 นี้ สิ่งเหล่านี้ ก็หวังว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้ต้นทุนเหล่านี้ต่ำลงและสามารถแข่งขันได้ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบที่ยังคงสูงมาก
2.เงินทุน ปัจจุบันเอสเอ็มอีกำลังขาดออกซิเจน คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ หลายธนาคารได้ประกาศลดเป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อ และมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเม็ดเงินที่จะปล่อยได้ถูกจำกัดและลดลงไปอีก ดังนั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่มหาศาล รัฐบาลต้องหาเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเติมเงินเข้าไปให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงิน ที่นอกจากธนาคารพาณิชย์แล้วจะต้องมีกลไกอื่นมาเติมให้สู้ต่อไปได้
3.สินค้าราคาถูกต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด ขณะนี้ที่ทราบว่าสินค้าราคาถูกได้ทะลักมาทุกทิศทุกทาง จนท่วมตลาดทั้งในไทยและภูมิภาค ส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยแข่งขันไม่ได้ จนต้องปิดกิจการมากมาย เหมือนช่วง 6 เดือน ม.ค.-พ.ค. 2567 ปิดกิจการกว่า 667 แห่ง เป็นขนาดมูลค่ากิจการที่ 20 ล้านบาท เป็นกิจการของคนไทยเกือบ 100% ในขณะที่โรงงานที่เปิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ขอการสนับสนุนจาก BOI และส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมดที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 140 ล้านบาท
ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะป้องกัน ต้องดีพอและตรวจตั้งแต่การนำเข้า มีการตรวจสอบ 100% ทำตามกฎเกณฑ์ที่อยู่ในขอบเขตและต้องทำอย่างเต็มที่ จะต้องระมัดระวังไม่ใช่ไปจ้องทะเลาะ ทำตามมาตรฐานสากลทั่วโลกที่มีเกณฑ์อยู่แล้ว เหมือนเวลาที่ประเทศไทยส่งสินค้าจากไทยไปจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นที่เข้าตรวจในตู้คอนเทเนอร์ของทางเข้าที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งไทยตรวจต่ำกว่ามาตรฐานมาก
“ต้องยอมรับว่าสินค้าที่เข้ามาในไทยมีมาแทบจะทุกทิศทุกทาง ดังนั้น การสกัดสินค้าด้อยคุณภาพเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ได้เร่งดำเนินการก่อนจะถูกตัดสินให้พ้นเก้าอี้นายกฯ โดยเรียกกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่กำกับดูแล ให้เร่งแก้ปัญหา หวังว่ารัฐบาลจะทำต่อและต้องรีบเร่งกว่าเดิม”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาระยะกลาง และยาวมีหลายเรื่องที่ต้องทำ อาทิ การศึกษา ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม แก้กฎหมายเพื่อให้ทำงานง่ายขึ้น และการสร้างบุคลากรที่ต้องเดินต่อ เพราะที่ผ่านมาช้าเกินไปแล้ว