ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม ได้จัดประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายและศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ ระดับจังหวัด ครั้งที่ 4/2567 เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการระหว่างแปลงใหญ่ และ ศพก. อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเพื่อให้แปลงใหญ่ และ ศพก.ร่วมกันขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดยก่อนการประชุม นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม ได้มอบแนวทางการพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้กับผู้เข้าร่วมประชุม
โดยการประชุมครั้งนี้มีระเบียบวาระการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดปลาหมอคางดำ โดยนายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมง จ.สมุทรสงคราม ได้มาชี้แจงถึงมาตรการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่ระบาดในพื้นที่ และสถานการณ์น้ำโดยเจ้าหน้าที่จากโครงการชลประทาน จ.สมุทรสงคราม การดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การดำเนินงานโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูงและแผนการประชุมปีงบประมาณ 2568 โดยมีนายประวิตร คุ้มสิน ประธาน ศพก.ระดับจังหวัด และนายไพโรจน์ ดำหมึก ประธานแปลงใหญ่ระดับจังหวัด เป็นประธานในการประชุม
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จ ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้นจำนวน 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรในชุมชน โดยเน้นการเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการผลิต และการตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดแนวทางการพัฒนาการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีการรวมกลุ่มร่วมกันบริหารจัดการด้านการเกษตรของตนเอง ทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด และส่งเสริมการเชื่อมโยงการตลาดเพื่อบริหารจัดการให้เกิดสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของสินค้า
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบูรณาการการทำงานร่วมกันของ ศพก. และเกษตรกรแปลงใหญ่ จึงสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคการเกษตร โดยใช้การประชุม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันพัฒนาเกษตรไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน