“เอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์” แรกเริ่มเดิมทีนั้นคือ “เอเชียนอินดอร์เกมส์” มีจุดเริ่มต้นมาจากไอเดียของ “สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย” หรือ OCA

เหตุผลเพราะอยากให้มีมหกรรมกีฬาใหญ่จัดกันทุกปี ในปีที่ไม่มี “เอเชียนเกมส์” ซึ่งแข่งขันกันทุก 4 ปี

พูดง่ายๆ คือ OCA ต้องหาอีก 3 รายการ เพื่อให้มีกีฬาทุกปี โดย 3 อีเวนต์ที่เพิ่มมาก็คือ อินดอร์เกมส์, มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ และบีชเกมส์

“เอเชียนอินดอร์เกมส์” เริ่มแข่งครั้งแรก ที่ประเทศไทย ในปี 2005 ที่กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, สุพรรณบุรี และพัทยา โดยกำหนดให้จัดกันทุกๆ 2 ปี

แต่ “อินดอร์เกมส์” จัดได้เพียง 3 ครั้ง คือครั้งที่ 2 ปี 2007 ที่มาเก๊า และครั้งที่ 3 ในปี 2009 ที่ฮานอย

หลังจากนั้นก็ต้องเลิก เพราะไม่ได้รับความนิยม และหาเจ้าภาพไม่ได้

คาบเกี่ยวกัน ในปี 2009 มีการแข่งขัน “เอเชียนมาร์เชียลอาร์ตเกมส์” ครั้งแรก

โดยมีพี่ไทย “กรุงเทพมหานคร” รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพเช่นเคย

เท่ากับว่าในปี 2009 มีการจัด 2 รายการคือ “เอเชียนอินดอร์” และ “เอเชียนมาร์เชียลอาร์ต”

ดูแล้วเยอะเกินไป บวกกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งหาเจ้าภาพไม่ได้ และไม่ได้รับความนิยม

จึงมีการนำทั้ง 2 รายการมารวมกัน กำหนดจัดทุกๆ 4 ปี ภายใต้ชื่อ

“เอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์”

จุดเริ่มต้น
“เอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์” ครั้งแรก ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ไปจัดกันที่อินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2013

จากนั้น ครั้งที่ 5 จัดที่อาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน ในปี 2017

ส่วนครั้งที่ 6 กำหนดจัดที่ประเทศไทย (กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ในปี 2021

เท่ากับว่า การแข่งขันรายการนี้ 6 ครั้ง ไทยเราได้เป็นเจ้าภาพถึง 3 ครั้ง

แต่พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกนัก เพราะครั้งที่ 6 ซึ่งกำหนดเดิมจะจัดระหว่าง 21-30 พ.ย. 2021 ถึงตอนนี้ ไม่ได้จัดเสียแล้ว

มหากาพย์แห่งการเลื่อน
การประกาศเลื่อนครั้งแรกเกิดเมื่อ 20 ต.ค. 2021

โดยคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ขอเลื่อน

เหตุผลคือสถานการณ์การระบาดของโควิด

กำหนดแข่งใหม่คือ 17-26 พ.ย. 2023

หลังจากนั้น ไทย ขอเลื่อนอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

กำหนดจัดใหม่คือ 24 ก.พ. ถึง 6 มี.ค. 2024

แต่สุดท้ายก็จัดกันไม่ได้อีก เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นช่วงก่อนโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ซึ่งอาจส่งผลต่อการเตรียมตัวของนักกีฬาไปโอลิมปิก

จึงเลื่อนอีกครั้งมาเป็นวันที่ 21-30 พ.ย. 2024 ที่สุดท้ายก็ไม่ต้องเลื่อนแล้ว

เพราะ OCA สั่งให้ยกเลิกไปเลย

ติดปัญหาตรงไหน?
การเตรียมตัวสำหรับ “เอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์” ทั้งการเตรียมตัวจัด และเตรียมนักกีฬา เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2021

ใช้งบประมาณไปแล้วมากกว่า 900 ล้าน

แต่คณะกรรมการยังต้องการอีกกว่า 1,300 ล้าน เพื่อนำไปใช้จัด และได้ทำเรื่องเสนอของบตามปกติ

แต่ถูกปฏิเสธ

เหตุผลที่ถูกปฏิเสธ เป็นเพราะไม่เคยเกิดการประชุมเพื่อผ่านงบตัวนี้ ระหว่าง รัฐมนตรีกีฬาฯ กับ กกท.

เหตุผลที่ไม่เคยเกิดการประชุม เป็นเพราะการเตรียมงานหลายเรื่องยังไม่ชัดเจน

โดยเฉพาะเรื่องนักกีฬาที่จะเข้าร่วม ซึ่งมีผลต่อการใช้งบประมาณโดยตรง

เมื่อไม่เกิดการประชุม ก็ไม่มีการพูดคุย จึงไม่มีการอนุมัติงบ

เมื่อไม่มีงบ ก็ทำอะไรไม่ได้ เงินไม่มา งานไม่เดิน

OCA พยายามช่วย?
ด้าน OCA พอจะรับรู้ถึงปัญหา และได้นัดฝ่ายไทยไปพูดคุยที่ปารีสเพื่อหาข้อสรุป

ฝ่ายไทยที่เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีกีฬา เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ และ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.

รมต.เสริมศักดิ์ แจ้งต่อ OCA ว่า ไทยมีปัญหาเรื่องงบประมาณที่จำกัด

OCA บอกว่า จะช่วย และเสนอให้ตัด 14 ชนิดกีฬา เพื่อประหยัดงบ

14 กีฬาที่ถูกตัดออก คือกีฬาที่มีแข่งอยู่แล้วในโอลิมปิก และเอเชียนเกมส์ ตัดไป จะได้ไม่ซ้ำซ้อน

จากนั้น OCA ได้ขอให้ ไทย แสดงความพร้อมให้ดูภายในวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา

แต่ผ่านเส้นตายไป ไทยก็ยังไม่ได้ส่งเอกสารแสดงความพร้อม

เพราะไม่มีความพร้อมให้แสดง เนื่องจากไม่มีงบประมาณไปจัด

เป็นที่มาของการโดนริบสิทธิการจัดในที่สุด

โอลิมปิคโยนเผือกให้รัฐบาล
ระหว่างที่กำลังงัดกันอยู่ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ โดยท่านประธาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ทำจดหมายด่วนถึง สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA)

ยืนยันว่า “โอลิมปิคไทย” พร้อมจัดได้ตามกำหนดเดิม และจะจัด 38 ชนิดกีฬาแห่งเหมือนเดิม ไม่มีการตัด 14 ชนิดกีฬาอย่างที่เสนอ

แต่ปัญหาคือ “รัฐบาลไทย” ยังไม่อนุมัติงบประมาณมาให้จัด

นี่ถือเป็นหมากที่แยบยลของ “บิ๊กป้อม”

เพราะจดหมายดังกล่าว ถือเป็นการบอก OCA อย่างชัดเจนว่า ถ้าจัดไม่ได้ ไม่ใช่เพราะ “โอลิมปิคไทย”

แต่เป็นเพราะ “รัฐบาล” ที่ไม่ให้เงิน

ขณะที่อีกทาง เท่ากับบีบรัฐบาล บอกให้เอาเงินมาเสียดีๆ

เพราะถ้าไม่ให้ แล้วไทยจัดไม่ได้ ก็เท่ากับเป็นความผิดรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับโอลิมปิคไทย

และสุดท้าย พอไม่ได้จัดจริงๆ โอลิมปิคไทย ก็ออกแถลงการณ์ทันที

บอกว่าทำให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศมาก แต่ก็จะคอยติดตาม ประสานกับต่างชาติ ไม่ให้เกิดความเสียหาย

เท่ากับบอกชัดเจนว่า “ผมไม่เกี่ยวนะ”

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
ผลกระทบจากการไม่ได้จัด ดร.ก้องศักด บอกว่าไม่มากนัก

ตัวเลขเบื้องต้นราว 100 ล้านบาท

ส่วนเรื่องนักกีฬาไทยจะโดนแบนในรายการนานาชาติ ตัดไปได้เลย เป็นไปไม่ได้แน่นอน

แต่ก็ต้องขอโทษ 38 สมาคมกีฬา ที่เตรียมนักกีฬาแล้ว แต่ไม่ได้แข่ง

ถึงกระนั้น ก็ถือเป็นการดี ที่เตรียมตัวเอาไว้ มีโอกาสจะส่งแข่งในรายการอื่นๆ ต่อไป

ด้าน OCA ยังยืนยันด้วยว่า ยังพร้อมให้ไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ถ้าหากต้องการก็เสนอตัวมาได้

เท่ากับว่า ไม่ได้กระทบอะไรมากนัก นอกจากภาพลักษณ์ที่เสียหายนิดหน่อย

บทสรุป
จากที่ได้ไล่เรียงมาทั้งหมด อาจพอสรุปได้ว่า แม้จะเสียหน้าไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเสียหายหนักนัก กับการไม่ได้จัดครั้งนี้

หลายคนบอกว่า ดีเสียด้วยซ้ำ เพราะจะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 1,300 ล้าน

เหตุเพราะนี่คือกีฬาที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก และเหตุผลที่เราได้จัด (หลายครั้ง) ก็เพราะไม่มีใครอยากจัด

หลายชาติคงประเมินแล้วว่า จัดไปแล้วไม่คุ้มค่า สิ่งที่ได้มากับสิ่งที่เสียไปไม่บาลานซ์กัน ไม่ได้สร้างความนิยม หรือมีผลดีต่อประเทศมากนัก

เห็นได้ชัดจากที่ OCA บอกว่า ถ้าอยากจัดอีก ก็บอกมาได้ พร้อมให้จัดเสมอ

แต่แน่นอนว่าในส่วนของสมาคมกีฬา และนักกีฬาย่อมมีผลมาก

เพราะนี่คือรายการระดับ “เอเชีย” ที่เป็นรองแค่ “โอลิมปิก” พวกเขาจึงหวังเอาไว้มาก

งบประมาณ เบี้ยเลี้ยง ที่เสียไปกับการเก็บตัว จึงไม่มีคำว่าสูญเปล่า

อย่างน้อยก็ได้นำไปใช้ฝึกซ้อม เตรียมตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ย่อมมีประโยชน์อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ทั้งสำหรับตัวนักกีฬา และผลงานที่จะแสดงในการแข่งขันต่อไป

แต่อีกอย่างที่น่าสังเกตก็คือ เรื่องงบประมาณ ว่าทำไม “ไม่อนุมัติ”

แถมฝั่งกระทรวงกีฬาฯ ยังสั่งให้ไปแจกแจงรายละเอียดมาให้ชัดเจนด้วยว่า ใช้อะไรตรงไหนไปบ้าง

เกมนี้ ไม่รู้เป็นเพราะมีใบสั่งจาก “การเมือง” หรือ “มองเห็นบางอย่าง”

และจะว่าไป นี่ต่างหากคือเหตุผลที่แท้จริง ทำให้เราไม่ได้จัด

ถ้าไม่เคลียร์เรื่องนี้ ยังมีปัญหาแบบนี้ต่อไป (เหมือนกับที่เป็นมา) คงไม่ต้องจัดอะไรกันแล้วในอนาคต?