เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ส.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายอิทธิพันธ์ บัวทอง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และนายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยื่นหนังสือต่อ นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภา เพื่อขอให้ประธานสภา สอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีทำร้ายร่างกายผู้สื่อข่าว
นายอิทธิพันธ์ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือว่า ตนมายื่นคำร้องและหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ถูกกระทำ เพราะเหตุการณ์คุกคามสื่อมวลชนในระหว่างการปฏิบัติงานสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้จากคลิปเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่า เป็นการแสดงอารมณ์โกรธเกรี้ยว ในลักษณะคุกคามผู้สื่อข่าวขณะที่ตั้งคำถามสัมภาษณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเรามีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่เกินกว่าปกติวิสัยของการพูดคุยหยอกล้อกัน หากวิญญูชนได้เห็นภาพจากหลากหลายมุม คงจะได้รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการหยอกล้อหรือไม่
นายสุปัน กล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ในการยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบนั้น เราไม่ได้ทำด้วยความชั่ววูบหรือทำด้วยความก้าวล่วง ซึ่งเราได้พิจารณากันในหลาย ๆ ด้าน กรณีของ พล.อ.ประวิตร ที่เห็นว่าการกระทำเช่นนี้ ไม่ใช่การกระทำที่ดี ทั้งเป็นการกระทำที่เกรี้ยวกราด ซึ่งเรามองว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ พล.อ.ประวิตร ปฏิบัติต่อประชาชนแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากสังคมปล่อยผ่านเรื่องราวดังกล่าวไป คงเหมือนกับที่เคยมีเหตุการณ์กรณี พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ดูแคลนสื่อมวลชนว่าจบมาจากสถาบันการศึกษาใด เพื่อส่งผลต่อการด้อยค่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในตอนนั้น
นายสุปัน กล่าวอีกว่า เรามายื่นตรวจสอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร ในประมวลจริยธรรมฯ ข้อ 12 คือ ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แสดงกิริยา หรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ และข้อ 13 คือ ต้องไม่แสดงอาการข่มขู่ อาฆาตมาดร้าย หรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น ซึ่งในทางกฎระเบียบข้อบังคับของสภา และกมธ.จริยธรรมนั้นเปิดช่องทางให้เราดำเนินการได้ ทั้งนี้ เราขอยืนยันว่า เรามาตรวจสอบในด้านจริยธรรมเท่านั้น ส่วนการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมของสภา จะเป็นอย่างไร เราขอไม่ก้าวล่วง แต่ขอทราบผลการพิจารณาทุกขั้นตอนตามที่ได้ระบุไว้ตามระเบียบข้อบังคับ
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะมีการจัดการอย่างไรต่อนั้น นายสุปัน กล่าวว่า ตนขอทำหน้าที่ในฐานะองค์กรวิชาชีพ มุ่งเน้นที่ยื่นตรวจสอบจริยธรรมเป็นหลัก ซึ่งทางเจ้าทุกข์เองไม่เอาเรื่องในคดีความทำร้ายร่างกาย และครั้งนี้คือปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เพื่อนร่วมวิชาชีพลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและเสรีภาพมากกว่าการออกแถลงการณ์ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้นักการเมืองที่จะปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพและสื่อมวลชนตระหนักว่า สื่อไม่ใช่ผู้ขัดแย้ง เพียงทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าไม่มีประเด็นทางการเมืองใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง