วันที่ 20 สิงหาคมของทุกปี ตรงกับ “วันยุงโลก” (World Mosquito) ซึ่ง“ยุง” ในบ้านเรามีหลายชนิด แต่ละชนิดเป็นพาหะของโรคแตกต่างงกัน เช่น “ยุงรำคาญ” เป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ “ยุงลายเสือ” เป็นพาหะของโรคเท้าช้าง ส่วน “ยุงก้นปล่อง” เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย แลกอีกตัวร้ายคือ “ยุงลาย” เป็นพาหะของโรค ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อหรือชิคุนกุนยา และไข้ซิกา
ตัวเล็กๆ ก่อโรคมากมายเช่นนี้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค ซึ่งเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห่วงใยสุขภาพประชาชนจึงขอแนะวิธีการป้องกันยุงเบื้องต้น คือ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด หลีกเลี่ยงแหล่งที่มียุงชุม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุง นอนกางมุ้ง และอีกวิธีที่ได้รับความนิยมคืการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุง
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1. มีสารเคมีเป็นสารออกฤทธิ์ เช่น ดีอีอีที (DEET) เอทิลบิวทิลอะซีทิลอะมิโนโพรไพโอเนต (Ethyl butylacetyl aminopropionate) และอิคาริดิน (Icaridin) ซึ่งต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. ดังนั้น ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. 2. มีน้ำมันตะไคร้หอม หรือ Citronella oil เป็นสารออกฤทธิ์ ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่อ อย. จึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ฉลากแสดงเลขที่รับแจ้ง (xxx/yyyy)
สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังไล่ยุง ส่วนใหญ่ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี จึงควรดูข้อจำกัดของอายุเด็กในการใช้ผลิตภัณฑ์บนฉลาก ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และห้ามนำไปใช้ทาแทนแป้งหรือโลชั่นทั่วไป ก่อนใช้ควรทดสอบการแพ้ โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณข้อพับหรือท้องแขน ถ้าไม่เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง จึงใช้บริเวณอื่น อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล ล้างมือทุกครั้งหลังใช้ผลิตภัณฑ์
หากไม่ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์โรคนำโดยแมลง ผ่านเว็บไซต์ “กรมควบคุมโรค กองโรคติดต่อนำโดยแมลง” สรุปข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-วันที่ 14 ส.ค.
“ไข้เลือดออก” ป่วยสะสม 62,860 ราย เพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 3,490 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 95.05 ต่อแสนประชากร ในจำนวนนี้เสียชีวิตสะสม 49 ราย คิดเป็น 0.08% ส่วนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ 3 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยปี 2567 น้อยกว่า ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 อยู่ที่ 1.29 เท่า สำหรับอาการคือ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อย มีจุดเลือดออกเล็กๆ ผื่นขึ้นตามแขน ขา ลำตัว ควรหลักเลี่ยงการกินยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบชนิดเอ็นเสด (NSAIDS)
“ไข้ซิกา” ป่วยสะสม 192 ราย เพิ่มขึ้นในรอบ 1 สัปดาห์ 7 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อัตราป่วย 0.29 ต่อแสนประชากร อาการมีผื่นขึ้นตามตัว ปวดหัว ปวดข้อ ปวดตา และปวดกล้ามเนื้อ หญิงตั้งครรภ์ที่ตดเชื้อเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์เกิดมามีศีรษะเล็กกว่าปกติ
“ชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย” ป่วยสะสม 323 ราย เพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ 21 ราย อัตราป่วย 0.49 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วย ปี 2567 น้อยกว่า ปี 2566 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน 2.8 เท่า อาการปวดตามข้อ โดยเฉพาะบริเวรข้อนิ้วมือ และข้อมือ ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ จึงรักษาไปตามอาการ รวมถึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
“ไข้มาลาเรีย” 11,463 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 263 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อาการคือมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย คล้ายเป็นหวัดแต่รุนแรงกว่า ปัจจุบันมียากินป้องกันก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยง
“เท้าช้าง” 1 ราย อาการคือบวมบริเวณขา ทำให้มีขนาดใหญ่และผิดรูปคล้ายเท้าช้าง อาการบวมใยผู้ชายสามารถลามาถึงบริเวณอัณฑะได้