วันที่ 19 ส.ค. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะยังมีต่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่หากไม่มีการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยต้องติดตามนโยบายจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีว่าจะมีความเห็นอย่างไร
“คิดว่าคงต้องมีมาตรการออกมาสักอย่าง เพื่อช่วยในเรื่องของพี่น้องประชาชนในช่วงนี้ หากไม่มีมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ส่วนมาตรการแบบไหนต้องดูทรัพยากรที่มี โครงสร้างพื้นฐานที่มี จะใช้มาตรการลักษณะไหนให้เกิดการทำงานได้เร็วขึ้น โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องดูช่วงเวลา ทรัพยากรที่มี ส่วนหนึ่งแน่นอนจะต้องมีมาตรการออกมาในช่วงแรกสักปริมาณหนึ่งและช่วงถัดไปว่าจะมีผลกระทบจากภายนอกอย่างไรบ้าง ซึ่งทรัพยากรมีจำกัด การดำเนินการกระตุ้นอาจต้องทำในช่วงเวลา และปริมาณที่เหมาะสม ต้องหารือกันกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)”
นายดนุชา กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต คงต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียด โดยยอมรับว่า สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนภายในประเทศการลงทุนต่างๆ เริ่มที่จะมีผลต่อการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะภาคเอกชนและของรัฐ ดังนั้นในช่วงถัดไปการลงทุนของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจในช่วงถัดไป คงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะใด เพราะการรับฟังความเห็น ทั้งรัฐบาลที่ผ่านมา และช่วงถัดไป น่าจะรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านในการดำเนินนโยบายต่างๆ สุดท้ายจะต้องติดตามว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง
“ยังพูดคุยมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ยังไม่ได้มีการแถลงนโยบาย โดยมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตก็ต้องดูว่าจะปรับเปลี่ยนแปลงแบบไหน เงื่อนไขเดิมมีเรื่องแหล่งเงินที่จะเข้ามาในคนละช่วงเวลา งบประมาณปี 67 ก็มีเงื่อนไขในการใช้จ่าย และงบประมาณปี 68 ที่จะออกมาวันที่ 1 ต.ค.นี้ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ส่วนตัวระบบก็เป็นตัวสำคัญว่าดำเนินการอย่างไรไปบ้าง ต้องมีการพูดคุยกันในระดับนโยบาย คงต้องดูว่าระดับนโยบายมีความเห็นอย่างไร รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ด้วย”
นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนนโยบายดอกเบี้ย คงไม่ก้าวล่วงในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เวลาพูดเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบค่อนข้างกว้าง ขอให้ทาง ธปท.เป็นผู้พิจารณา แต่หากดูแนวโน้มในระดับโลก ดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง แนวโน้มเป็นอย่างไร ดังนั้นขึ้นอยู่กับ ธปท.ว่าจะมองอย่างไร
ด้านการแก้ไขหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูงขึ้น ทาง ธปท. กระทรวงการคลัง และสศช. มีการหารือกันอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับนโยบายที่จะต้องออกมาพุ่งเป้ามากขึ้น และต้องดูในแง่ของตัวทรัพยากรที่จะใช้ในเรื่องนี้ ดังนั้นคงต้องขอให้คุยกันชัดเจนก่อน ซึ่งคิดว่าไม่นาน คาดว่าจะออกมาได้