เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ในฐานะรองประธานอนุกรรมการติดตาม และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางมาประชุม ณ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เพื่อติดตามและรับฟังรายงานการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเดินทางไปยังบริเวณสันเขื่อนลำปาว เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำปาว โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พ.อ.ประวัติ จารุตัน รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) นายยงยส เนียมทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) นายไพฑูรย์ ศรีมุก ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 นายสำรวย อินพิทักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว นายสันติ จัตุพันธุ์ นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นางรุ่งรวี อ้นคต ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นายสุรพล สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ นายตรีรัตน์ หนูแก้วขวัญ ปภ.กาฬสินธุ์รายงานสถานการณ์

โดยกรมอตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณ น้ำฝนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2567 จะสูงกว่าเกณฑ์ปกติเล็กน้อย และมีพายุฤดูร้อนเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ในช่วงปลายเดือนกันยายนมีโอกาสที่ปริมาณฝนจะสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ประมาณร้อยละ 5 ควรระมัดระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดฝนตกชุกและ กระจุกตัวในช่วงระยะเวลาสั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
ด้านกรมชลประทาน ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งสิ้น 1,629 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น ร้อยละ 36 ซึ่งเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำท่าในระดับปานกลาง ทั้งนี้ จากการประมาณการของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานได้ปรับแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ปริมาณฝน มากกว่าปกติร้อยละ 5 เพื่อให้สามารถรองรับการจัดเก็บน้ำในฤดูฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วย ป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จะมีปริมาณน้ำเก็บกักใน 3 เขื่อนหลัก ที่ระดับร้อยละ 80 หรือประมาณ 3,600 – 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้ในการอุปโภค และบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่าจากการรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบจากฝนกระจุกตัว และน้ำท่วมฉับพลันในระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ้งส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงเห็นควรให้ติดตาม สถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นได้

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานด้านความมั่นคง และส่วนราชการที่ เกี่ยวข้องจัดเตรียมความพร้อม และแผนเพื่อรองรับกรณีเกิดอุทกภัย ให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้ สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก และสถานที่ราชการที่ให้บริการประชาชน เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน สามารถอพยพประชาชน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ