ในโครงการ Flagship ด้านสังคม โครงการช่วยเหลือคนพิการ ที่ช่วยกันอย่างตั้งใจ นัก CSR คุยกันว่า การบริจาค สงเคราะห์ผู้พิการก็ถือว่าดี แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนต้องพัฒนาศักยภาพทางอาชีพให้เขา และต้องมีการจ้างงานที่เหมาะสม
เรามี พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 หน่วยงานที่มีบุคลากรเกิน 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ต่อการจ้างงาน 100 คน ถ้าไม่จ้าง ต้องส่งเงินเข้าสมทบกองทุนพัฒนาอาชีพคนพิการของกระทรวง พม. ตาม มาตรา 34 หรือทำโครงการ CSR เกี่ยวกับคนพิการ หรือจ้างงานคนพิการไปช่วยเหลือสังคม ตามมาตรา 35
เท่าที่ผมฟัง ภาคธุรกิจบอกว่าเขาตั้งใจทำตาม มาตรา 33 / 34 / 35 ได้เกือบ 100% แล้ว และพยายามเพิ่มการจ้างงานขึ้นอีก เพื่อลดการจ่ายเงินเข้ากองทุน ผมพยายามค้นข้อมูลจากหลายแหล่งที่ไม่ค่อยตรงกัน แต่ดูจากข้อมูลของรัฐที่น่าเชื่อถือในปี 2564 ก็เป็นตามนั้นจริง ๆ ภาคธุรกิจต้องจ้างงานราว 65,000 อัตรา ตามมาตรา 33 และ 35 จ้างไปแล้วราว 52,000 อัตรา ที่เหลือจ่ายเงินเข้ากองทุนจนเกือบครบ มีส่วนน้อยมากที่ยังไม่ทำ กำลังถูกฟ้อง และต้องไปเสียค่าปรับ
ผมมีความสงสัยว่าภาครัฐเอาจริงไหม จากข้อมูลทราบว่ารัฐต้องจ้างผู้พิการราว 18,000 อัตรา จ้างไปได้เพียง 3,500 อัตรา และมีอัตราการจ้างลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี สวนทางกับภาคธุรกิจ จนตอนนี้น่าจะตํ่ากว่า 20% ของเป้าหมายแล้ว และ ไม่เห็นตัวเลขการจ่ายเงินเข้ากองทุนในมาตรา 34 เลย ไม่แน่ใจว่ามีการจ่ายไหม หรือมีข้อยกเว้น ถ้าไม่จ่าย หน่วยงานรัฐที่ไม่ทำตาม พ.ร.บ. เหล่านั้นจะถือว่ากระทำผิดกฎหมายหรือไม่ จะถูกเร่งรัดฟ้องร้อง แบบที่ภาคธุรกิจโดนหรือเปล่า ถามใครก็ได้คำตอบไม่ตรงกัน
ตอนเริ่ม พ.ร.บ. ใหม่ ๆ ก็เคยคุยกันว่ากฎหมายจะถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียม จำได้ว่าหน่วยงานของรัฐบอกว่า ให้ภาคธุรกิจนำร่องไปก่อน ขอเวลาภาครัฐจัดทัพเตรียมงบประมาณสัก 3 ปีแล้วจะทำให้ได้ 100% ตาม พ.ร.บ. นี่ก็เกิน 3 ปีมานานมากแล้ว ตัวเลขเป็นแบบนี้ จะพูดดังไปก็เกรงใจเพื่อน ๆ ในภาครัฐ จึงขอแอบกระซิบเบา ๆ ในคอลัมน์ “เสียงกระซิบจากคนตัวเล็ก” แล้วกัน
แบบนี้เรียกว่า เหลื่อมลํ้าหรือยั่งยืน … ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร วันนี้นัก CSR จะร่วมใจกันขับเคลื่อนต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนของเพื่อน ๆ ผู้พิการ.