พมจ. : คุณหมอมาร์คคะ เจ้านายมอบหมายให้หนู ช่วยพัฒนาคณะกรรมการ CSR จังหวัด ให้ร่วมมือกันช่วยเหลือสังคม ให้ยั่งยืน เกิด Impact หนูควรเริ่มต้นอย่างไรดี?
คุณหมอมาร์ค : กระทรวง พม. ใช้เวลาอยู่หลายปี ค่อย ๆ ก่อตั้งคณะกรรมการ CSR จังหวัด มาเรื่อย ๆ จนปีนี้มีคณะกรรมการ CSR ครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว บางจังหวัดก็ก้าวหน้าไปไกล ช่วยเหลือสังคมได้มาก บางจังหวัดก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ยังงง ๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองพิจารณาขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.องค์ประกอบที่ถูกต้องของคณะกรรมการ และภาวะผู้นำของท่านประธาน รองประธาน ท่าน พมจ. ลองดูว่าท่านมีกรรมการที่มี Passion และมีความรู้ด้าน CSR ที่ดี มีเครือข่ายของภาคส่วนต่าง ๆ หรือไม่ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้แทนของหอการค้า สภาอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม SME ธนาคาร สื่อมวลชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทุกท่านสามารถทำงานเป็นทีมได้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่คงต้องคัดเลือกกรรมการกันใหม่หรือเสริมส่วนที่ขาด
2. รู้ปัญหาและความเร่งด่วนของจังหวัดหรือไม่ ปัญหาส่วนใหญ่จะมาจาก 3 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และจะแยกย่อยตาม SDG 17 ข้อ แล้วเราจะเลือกเรื่องอะไรมาทำอย่างเร่งด่วน เอากี่เรื่อง จะรวมพลังกันยังไง ต้องกำหนดเป็นแผนงาน และสร้างความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างไร
3. รู้แหล่งทุน แต่ละบริษัทที่เป็นสมาชิกคงจะมีงบประมาณอยู่บ้าง หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็เช่นกัน บางองค์กรมีเงิน บางองค์กรมีกำลังคน บางองค์กรมีความรู้ บางองค์กรกำหนดเป็นแนวนโยบายเพื่อของบประมาณได้ ข้อมูลเหล่านี้จะประสานกันอย่างไร ที่เหลือเราสามารถจัดกิจกรรมระดมทุนในท้องถิ่นได้หลายรูปแบบ
4. มีการติดตามประเมินผล และขยายผล จนเกิด Impact มิใช่จัดแค่ Event ถ่ายรูปส่งข่าว
5. ต้องทำ CSR ทั้ง In Process และ After Process เราต้องรู้ว่าอุตสาหกรรมของเราสร้างผลกระทบเชิงลบอย่างไร
ต้องช่วยกันลด และต้องรู้ว่าถ้ารวมพลังกันเรามีพลังอะไรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกใหญ่ ๆ ได้บ้าง
6. ต้องสื่อสารให้ทุกคนรู้ทั้งจังหวัด เราจะทำให้คนทุกคนในจังหวัดรู้เรื่องที่เราทำ และมาช่วยกันได้อย่างไร เรามีช่องทางการสื่อสารอะไรบ้าง มีประสิทธิภาพแค่ไหน
นี่ก็เป็นแนวทางพื้นฐาน 6 เรื่องที่ท่าน พมจ. ลองนำไปใช้ดูนะครับ ได้ผลอย่างไรมาเล่าสู่กันฟังด้วย.