วันนี้ ( 7 ส.ค.)นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวง ดีอี โดย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ เครือข่าย  ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” พบว่ามมี “การโพสต์ประกาศให้บริการรับสมัครแอปฯ ทางรัฐ เพื่อใช้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ โดยคิดค่าบริการ ครั้งละ 20 บาท”


ทั้งนี้จากการประสานงานตรวจสอบร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA พบว่า ประเด็นดังกล่าวเป็น “ข้อมูลเท็จ” ซึ่งตามข้อมูลจริง คือ การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ประชาชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือค่าบริการใดๆ ตลอดขั้นตอนการลงทะเบียน


ขณะเดียวกันยังตรวจพบพฤติกรรมของมิจฉาชีพที่อาศัยช่วงเวลานี้ในการหลอกลวงประชาชน โดยมีการส่งข้อความ SMS ว่า “ท่านได้รับเงิน Digital Wallet พร้อมแนบลิงก์ให้กดยืนยันตัวตน” ซึ่งหากประชาชนหลงเชื่อ ไม่ได้สังเกตหรือติดตามข่าวสารที่ถูกต้อง และทำการกดลิงก์ดังกล่าว อาจจะทำให้โดนมิจฉาชีพหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวหรือหลอกติดตั้งแอปฯ ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน และข้อมูลส่วนบุคคลได้


สำหรับประชาชน กลุ่มผู้ที่มีสมาร์ตโฟน รัฐบาลได้เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต”  ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น คือ การลงทะเบียนผ่านแอปฯ ทางรัฐ ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดติดตั้งแอปฯ ผ่าน เพลย์ สโตร์ ของ กูเกิล และ แอป สโตร์ ของ แอปเปิล เท่านั้น

นอกจากนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกลุ่มผู้ที่มีสมาร์ตโฟน ที่อาจประสบปัญหา และไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร หรือต้องการความช่วยเหลือในการลงทะเบียนฯ นอกเหนือจากการลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปฯ “ทางรัฐ” กระทรวง ดีอี และกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดสถานที่จุดให้บริการ (Walk – in) สอบถามข้อมูล และให้บริการรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ รวมจำนวน 6,107 แห่งทั่วประเทศ ตามเวลาทำการ ดังนี้


1.ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 ศูนย์ทั่วประเทศ 2.ที่ทำการไปรษณีย์ จำนวน 1,200 แห่ง ทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต (เอกชน) และร้านค้าให้บริการ)3.ธนาคารออมสิน 1,047 แห่ง ทั่วประเทศ 4.ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,238 แห่งทั่วประเทศ5.ธนาคารกรุงไทย จำนวน 900 แห่ง ทั่วประเทศ


ด้านกลุ่มผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟน จะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 17 ตุลาคม 2567 โดยรัฐบาลจะมีการแจ้งวิธีการลงทะเบียนและจุดให้บริการอย่างเป็นทางการต่อไป 


“กระทรวง ดีอี ขอเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อ อย่าแชร์ข้อความ อย่ากดลิงก์ดังกล่าวข้างต้น โดยขอให้ยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน” โดย กระทรวง ดีอี จะทำการตรวจสอบที่มาของการเผยแพร่ข้อความเท็จ และการส่ง SMS หลอกลวง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับมิจฉาชีพอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าว ทั้งการเปิดแอปฯ เว็บไซต์ เพจปลอม ข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน และการส่งลิงก์หลอกลวง เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง ซึ่งสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และความเสียหายต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง เนื่องจากโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ  และช่วยเหลือประชาชน ซึ่งคนไทยกำลังให้ความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน” นายประเสริฐ กล่าว