เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ห้องประชุม อบจ.สมุทรสงคราม ดร.ณมาณิตา กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรและสหกรณ์ จ.สมุทรสงคราม โดยนายวิโรจน์ มาเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการ น.ส.ทัศนีย์ บุญแก้ว และ น.ส.นนทิชา วรรณสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 4 และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

จากนั้น ดร.ณมาณิตา และคณะ ได้ลงพื้นที่คลองบางบ่อ หมู่ 1 ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม ซึ่งมีความยาวประมาณ 500 เมตร ตรวจติดตามการลงแขกลงคลองจับปลาหมอคางดำ โดยนายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมง จ.สมุทรสงคราม และนางภมรพรรณ ฉัตรภูมิ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงคราม

โดยการจับปลาหมอคางดำ ครั้งนี้ อธิบดีกรมประมงอนุญาตให้สำนักงานประมง จ.สมุทรสงคราม ทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการในการกำจัดปลาหมอคางดำ ผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือบางประเภททำการประมงผิดกฏหมาย “อวนทับตลิ่ง” ขนาดตาอวน 0.5 มิลลิเมตรขึ้นไป ความยาวของอวนไม่น้อยกว่า 50 เมตร กว้างไม่น้อยกว่า 5 เมตร และการใช้สารเบื่อเมาประเภทกากชา (ซาโปนิน) ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำโดยอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงคราม และสำนักงานประมง จ.สมุทรสงคราม อย่างใกล้ชิด ซึ่งต่อไปหน่วยงานใดที่จะจับปลาหมอคางดำโดยใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย จะต้องดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประมงจังหวัดเป็นกรณีพิเศษครั้งต่อครั้ง และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงคราม และสำนักงานประมง จ.สมุทรสงคราม อย่างใกล้ชิด

สำหรับการลงแขกลงคลองครั้งนี้ ใช้วิธี “ดักอวนทับตลิ่ง” หัวและท้ายคลองความยาว 500 เมตร โดยการโรยกากชาเพื่อไล่ปลาหมอคางดำมายังท้ายอวนแล้วใช้สวิงตักขึ้น และเนื่องจากการลงแขกลงคลองกำจัดปลาหมอคางดำของสำนักงานประมง จ.สมุทรสงคราม ได้ทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566-2567 รวม 11 ครั้ง ได้ปลาหมอคางดำ รวม 874.8 กิโลกรัม จึงทำให้ครั้งนี้ได้ปลาหมอคางดำตัวเล็กขนาด 2-3 นิ้ว หรือประมาณ 60 ตัวต่อกิโลกรัม จำนวน 170 กิโลกรัม นำไปทำปุ๋ยชีวภาพแจกเกษตรกรในการออกหน่วยคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ของจังหวัด เพื่อส่งเสริมการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการใช้สารชีวภาพแทนสารเคมีในการเกษตร

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการลงแขกลงคลองครั้งนี้ ปลาที่จับได้ล้วนเป็นปลาหมอคางดำ โดยแทบไม่มีปลาพื้นถิ่นชนิดอื่นติดอวนเลย คาดว่าน่าจะถูกปลาหมอคางดำกินเป็นอาหารก็เป็นได้

ล่าสุดกรมประมงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย จะรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 15 บาท สำหรับ จ.สมุทรสงคราม เบื้องต้นกำหนดจุดรับซื้อที่สถานีพัฒนาที่ดิน จ.สมุทรสงคราม เลขที่ 99/9 หมู่ 5 ต.บางแก้ว อ.เมืองสมุทรสงคราม เพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพใช้ในสวนยางพาราและส่งเข้าโรงงานทำปลาป่น โดย จ.สมุทรสงคราม มีจุดผลิตน้ำหมักชีวภาพ 3 จุด คาดว่าจะรับซื้อปลาหมอคางดำได้เดือนละ 8.9 ตัน สามารถผลิตปุ๋ยได้ 24,000 ลิตรต่อเดือน โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน ส.ค. 67 เป็นต้นไป