ปัจจุบัน ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมีอยู่ไม่มากนัก และยากต่อการค้นหา เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลในพื้นที่ไกลฝั่ง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่กลางทะเลที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองซึ่งต้องดูแล รักษา และปกป้อง จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ ปตท.สผ. หรือ PTTEP Ocean Data Platform ( https://oceandata.pttep.com ) เพื่อเติมเต็มคลังข้อมูลทางทะเลในอ่าวไทย ส่งเสริมความยั่งยืนของท้องทะเล ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDG 14: Life Below Water) รวมถึงเป้าหมายในระดับประเทศและองค์กรอีกด้วย

การเก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก

ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทย การจัดทำแผนอนุรักษ์และแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งระบบเตือนภัยต่าง ๆ การตรวจสอบความถูกต้องของแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การศึกษากระแสน้ำที่กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการฟอกขาวและการฟื้นตัวของปะการัง เป็นต้น รวมทั้ง ยังมีข้อมูลโครงการและกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทยและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน
รอบชายฝั่ง 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ซึ่ง ปตท.สผ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลภายใน PTTEP Ocean Data Platform มาจากการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต เช่น สถานีตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (Telemetry Marine Monitoring Station) ที่สามารถตรวจวัดและส่งข้อมูลการตรวจวัดตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา (Meteorological Data) เช่น ความเร็วและทิศทางลม อุณหภูมิอากาศ และข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ (Oceanographic Data) เช่น ความเร็วและทิศทางกระแสนํ้า และอุณหภูมินํ้า เป็นต้น โดยมีการเก็บข้อมูลที่ระดับความลึกต่าง ๆ จนถึง 30 เมตรจากผิวน้ำ และมีการจัดทำข้อมูลฐานและการตรวจติดตามปริมาณไมโครพลาสติก โดยมีการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลทั้งบริเวณใกล้ฝั่ง และไกลฝั่ง เพื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก รวมถึง ระบุชนิดและแหล่งที่มาของพลาสติกที่ตรวจพบ


การระบุชนิดสัตว์ทะเลบริเวณขาแท่นผลิตปิโตรเลียมจากการจับภาพของกล้องใต้น้ำและซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลจากกล้องใต้นํ้าและซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ติดตั้งใต้แท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งสามารถตรวจติดตามและระบุชนิดสัตว์ทะเลบริเวณขาแท่นฯ เพื่อการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวใต้นํ้าดังกล่าว จะทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถระบุสายพันธุ์สัตว์ทะเลได้ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 85

การจัดทำและพัฒนา PTTEP Ocean Data Platform ดังกล่าว ปตท.สผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ และภาควิชาการ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านโครงการและการดำเนินงานต่าง ๆ ครอบคลุมการศึกษา วิจัย ตรวจวัด และเผยแพร่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปตท.สผ. มีแผนที่จะขยายการเก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์และสุขภาพทางทะเลให้ครอบคลุมแหล่งผลิตอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อสนับสนุนการต่อยอดโครงข่ายข้อมูลของทะเลและมหาสมุทรให้มีมากขึ้น อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมหรือค้นหาข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ทะเลจาก PTTEP Ocean Data Platform หรือ แพลตฟอร์มข้อมูลวิทยาศาสตร์ทางทะเลของ ปตท.สผ. ได้ที่ https://oceandata.pttep.com